หุ้นกู้ออกใหม่ทะลัก 1.3 ล้านล้าน SCBX จุดพลุขายรายย่อย มิ.ย.นี้

หุ้นกู้

ยักษ์ธุรกิจแห่ขายหุ้นกู้ระดมทุนตุนสภาพคล่องต่อเนื่อง ไตรมาส 2 ทะลักรับฤดูกาล “โลตัส-AIS-IVL-ช.การช่าง-IRPC” ลุยนำเงินชำระหนี้ ยานแม่ “SCBX” ประเดิมขายหุ้นกู้ให้ประชาชนรายย่อย เสนออัตราดอกเบี้ย 2.90-3.10% ต่อปี ภายใต้โครงการขายหุ้นกู้ 1 แสนล้าน รองรับแผนขยายการลงทุนใหม่-คืนหนี้เงินกู้ “กสิกรไทย” ชี้แนวโน้มหุ้นกู้ออกใหม่ปีนี้แตะ 1.3 ล้านล้านบาท จับตากลุ่ม TRUE หลังควบรวมดีแทคเรียบร้อย เตรียมแผนระดมเงินก้อนใหญ่ เทรนด์ธุรกิจออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นแทนกู้เงินแบงก์ ธนาคารกรุงไทยเผยดอกเบี้ยหุ้นกู้อายุ 1-5 ปี ปรับขึ้นแล้ว 0.20-0.35%

หุ้นกู้ออกใหม่พุ่ง 1.3 ล้านล้าน

นายรณฤทธิ์ วิระชะนัง ผู้บริหารงานตลาดทุนธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2566 ภาพโดยรวมของตลาดหุ้นกู้ไทยยังคงแอ็กทีฟต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นก็จริง แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่น่าจะขึ้นแรง ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 1.75%

และยังยืดหยุ่นด้านนโยบายที่อาจจะขึ้นดอกเบี้ยต่อตามความจำเป็น โดยพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อประกอบกับการตัดสินใจ ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อไทยล่าสุดก็ออกมาไม่ได้น่ากลัว ค่อย ๆ ซอฟต์ลง ฉะนั้นมองว่า กนง.น่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 2% และหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้

สำหรับผู้ออกหุ้นกู้ถือว่ายังมีความต้องการระดมทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยประมาณการยอดออกหุ้นกู้ใหม่ปีนี้จะอยู่ที่ 1.30-1.33 ล้านล้านบาท เติบโต 3-5% เมื่อเทียบจากปีก่อน (YOY) จะเป็นลักษณะการปรับตัวพักฐาน เพราะปีที่แล้วมียอดออกหุ้นกู้ใหม่ทำสถิติสูงสุดแตะ 1.27 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 21% เมื่อเทียบจากปี 2564 อย่างไรก็ดี ความต้องการระดมทุนยังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้ลดลงจากปีที่แล้ว

นายรณฤทธิ์กล่าวว่า สภาพคล่องการซื้อขายในตลาดหุ้นกู้ไทยไม่ได้แตกต่างจากปีที่แล้วมาก ประกอบกับปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาก็ไม่ได้เปลี่ยนมาก สะท้อนสภาพคล่องในระบบยังเหมือนเดิม

เพียงแต่ผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้นว่าจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้น, ตราสารหนี้ และเงินฝากที่ดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องการแข่งขันทางเลือกของผู้ลงทุน ซึ่งมองว่าดี เพราะถ้าหุ้นกู้ให้ดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ ผู้ลงทุนก็อาจนำเงินไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยดีกว่าก็ได้

สำหรับปีนี้กสิกรฯตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์ในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ใหม่ไว้ประมาณ 16-17% ของยอดออกหุ้นกู้ใหม่

หน้าเดิมแห่ระดมทุนรับฤดูกาล

นายรณฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับช่วงไตรมาส 1/2566 ยอดออกหุ้นกู้ใหม่ในตลาดอยู่ที่ 2.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% YOY ถือว่าเป็นไปตามแผนของแต่ละบริษัท ไม่ได้มีการเลื่อนระดมทุน ส่วนช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ในไปป์ไลน์มีอยู่ค่อนข้างมาก เพราะเป็นฤดูกาล ดังนั้นภาพน่าจะเป็นคล้าย ๆ ปีที่แล้ว

โดยปีนี้ทั้งปีจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอายุประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ออกหน้าเดิม ๆ ที่ครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะเป็นตัวหลักในการออกใหม่อยู่แล้ว แต่ว่าจะมีบางบริษัทที่ปีที่แล้วยังไม่ได้ออกมาออกปีนี้ด้วย และบางบริษัทออกไปมากเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้อาจจะชะลอลงหรือไม่ออก และไปออกในปีถัดไปแทน

เช่น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) หรือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ปีนี้ถ้าจะออกก็คงจะออกน้อยหรืออาจจะไม่ออกเลย เพราะปีที่แล้วออกไปมูลค่าเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ทำให้ความต้องการใช้เงินปีนี้อาจจะไม่มาก ขณะที่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) คาดว่าน่าจะออกใหม่ต่อเนื่อง

จับตา “AIS-TRUE” เร่งตุนเงิน

นายรณฤทธิ์กล่าวว่า ปีนี้ต้องจับตา บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ที่กำลังจะเสนอขายหุ้นกู้ใหม่ว่าจะออกมูลค่ามากแค่ไหน ซึ่งจะเปิดจองซื้อภายในเดือน เม.ย.นี้ ถือว่าเป็นช่วงที่เซ็กเตอร์เทเลคอมเริ่มกลับมาคึกคัก โดยทาง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ก็คาดว่าครึ่งปีหลังน่าจะออกหุ้นกู้ใหม่หลังควบรวบกิจการกับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เสร็จสิ้นแล้ว

“ภาพการระดมทุนของบริษัทใหญ่ ๆ ยังคงเห็นต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ใช่บริษัทเดิมทั้งหมด เพราะบางกลุ่มระดมทุนไปเยอะแล้วเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้อาจจะออกน้อยลง แต่บางกลุ่มอยู่ในแผนที่ต้องใช้เงินพอดี จึงสลับหน้ากัน ทำให้โดยรวมตลาดหุ้นกู้โตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” นายรณฤทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ รายงานข่าวล่าสุดจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ระบุว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ “AA+(tha)” ได้เพิ่มจำนวนการออกหุ้นกู้เป็น 2 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1 หมื่นล้านบาท โดยการเพิ่มจำนวนการออกหุ้นกู้ไม่มีผลกระทบต่อมุมมองของฟิทช์ เรทติ้งส์ ต่ออันดับเครดิตของ AIS

ธุรกิจออกหุ้นกู้แทนกู้แบงก์

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment and Markets Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอดคงค้างตลาดหุ้นกู้สิ้นไตรมาส 1/66 ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 4.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3% จากสิ้นปี 2565 ซึ่งอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ก็น่าจะเติบโตใกล้เคียงกัน และมีโอกาสที่ยอดคงค้างจะแตะ 5 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปีนี้

ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นกู้ไทยเติบโตเฉลี่ยปีละเกิน 10% ต่อเนื่องกว่า 10 ปี ขณะที่สินเชื่อระบบแบงก์ขยายตัวปีละ 5% โดยประมาณ สะท้อนถึงทิศทางที่ภาคธุรกิจหันมาใช้วิธีการระดมทุนขายหุ้นกู้ ทดแทนการกู้แบงก์มากขึ้น

ต้นทุนการออกหุ้นกู้ในไตรมาส 1/66 ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ในเดือน ม.ค.และ มี.ค. รวม 0.50% คือหุ้นกู้อายุ 1-5 ปี อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นราว 0.20-0.35% ซึ่งถือว่าเป็นการส่งผ่านต้นทุนจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เหมาะสม

ต้นทุนดอกเบี้ยขึ้นจำกัด

นายสงวนกล่าวว่า ระดับการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว ไม่ได้มากจนบริษัทผู้ออกหุ้นกู้บริหารจัดการไม่ได้ อีกสาเหตุที่ตลาดหุ้นกู้ยังขยายตัวไปได้ดีโดยที่ระดับต้นทุนไม่พุ่งสูงมากเกินไป เนื่องจากผู้ออกมีการประเมินกำลังซื้อของตลาดได้เหมาะสม หากมีปริมาณการออกมากจนเกินไป จนทำให้ต้นทุนปรับสูงขึ้นมาก บริษัทก็จะลดปริมาณการออกหุ้นกู้ และไปหาแหล่งระดมเงินทุนจากส่วนอื่น ๆ เช่น เงินกู้ธนาคาร มาเป็นส่วนผสม

เนื่องจากมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายใกล้ถึงจุดสูงสุดที่ 2% ต้นทุนการออกหุ้นกู้อาจจะปรับขึ้นต่อได้ แต่ก็ขึ้นอย่างจำกัด และจะทรงตัวตลอดครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดตราสารหนี้นอกประเทศที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ไม่ได้เข้ามามีผลกระทบกับตลาดหุ้นกู้ในประเทศ เนื่องจากตลาดการเงินในประเทศโดยรวมมีเสถียรภาพ ผู้ออกหุ้นกู้โดยรวมยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแรงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสภาพคล่องในตลาดยังมีอยู่เพียงพอ

ครบดีล 7 แสนล้าน

ขณะที่ นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า สำหรับปีนี้จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน 703,090 ล้านบาท โดยบริษัทใหญ่ที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดไตรมาส 2-4 ปีนี้ 10 อันดับแรกประกอบด้วย

1.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มูลค่า 33,431 ล้านบาท 2.ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) มูลค่า 28,196 ล้านบาท 3.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มูลค่า 25,000 ล้านบาท 4.ซีพี ออลล์ (CPALL) มูลค่า 18,622 ล้านบาท 5.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) มูลค่า 14,100 ล้านบาท

6.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) มูลค่า 12,912 ล้านบาท 7.ลีสซิ่งไอซีบีซีไทย (ICBCTL) มูลค่า 12,354 ล้านบาท 8.ปตท. (PTT) มูลค่า 12,000 ล้านบาท 9.ไทยเบฟเวอเรจ (TBEV) มูลค่า 11,887 ล้านบาท และ 10.โตโยต้าลีสซิ่งประเทศไทย (TLT) มูลค่า 11,800 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เมื่อหุ้นกู้ครบกำหนด บริษัทก็จะมีแผนการออกหุ้นกู้ลอตใหม่มาทดแทน

SCBX ดีเดย์ขายหุ้นกู้รายย่อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ยื่นไฟลิ่งจากสำนักงาน ก.ล.ต. เสนอขายหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันและมีผู้ถือหุ้นแทน จำนวน 2 ชุด ชุดที่ 1 อายุ 4 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2570 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.90-3.10 ต่อปี เป็นการเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป

และชุดที่ 2 เป็นหุ้นกู้เสนอขาย ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ (ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาและอัตราดอกเบี้ย) ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอขายในวันที่ 12-14 มิ.ย. 2566

บริษัทระบุว่า การออกหุ้นกู้ดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการหุ้นกู้ของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ ปี 2566 วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะออกและเสนอขายภายในรอบ 2 ปี โดยวัตถุประสงค์การใช้เงิน เพื่อการลงทุนตามแผนธุรกิจของบริษัท ในการโอนทรัพย์สิน/หลักทรัพย์จากธนาคารลูก (ธนาคารไทยพาณิชย์) และการเพิ่มทุนและให้เงินกู้แก่บริษัทลูก รวมถึงเพื่อชำระคืนเงินกู้ของบริษัท และลดภาระดอกเบี้ยจ่าย

ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้อยู่ที่ “AA+(tha)” แนวโน้ม “stable” จัดอันดับโดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566

ทั้งนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท SCBX เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้น SCBX อนุมัติในการออกหุ้นกู้กรอบวงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการบริหารธุรกิจของกลุ่ม SCBX ตามแผนธุรกิจระยะ 3 ปี สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของภูมิภาค

IRPC ขายรายย่อยบน “เป๋าตัง”

นอกจากหุ้นกู้ SCBX ยังมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการยื่นไฟลิ่งเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ในไตรมาส 2/2566 อาทิ 1.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคภายใต้แบรนด์ “โลตัส” (Lotus’s) ของกลุ่ม ซี.พี. เสนอขายหุ้นกู้ให้กับประชาชนเป็นการทั่วไป 5 รุ่น (อายุ 1 ปี 6 เดือน-10 ปี) จ่ายดอกเบี้ย 2.8-4% ต่อปี รวมมูลค่าเสนอขาย 31,500 ล้านบาท เปิดจองซื้อวันที่ 17-19 เม.ย.นี้ วัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงินภายในปีนี้

2.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) เสนอขายประชาชนเป็นการทั่วไปจำนวน 4 รุ่น (อายุ 3-10 ปี) จ่ายดอกเบี้ย 3-4.15% ต่อปี เปิดจองซื้อวันที่ 22-24 พ.ค.นี้ เพื่อชำระคืนหนี้และรองรับลงทุนของโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นทุนหมุนเวียนภายในปี 2566-2567

3.และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ในกลุ่ม ปตท. เสนอขายประชาชนเป็นการทั่วไป จำนวน 8 รุ่น (อายุ 3-10 ปี) จ่ายดอกเบี้ย 3.20-4.40% ต่อปี เปิดจองซื้อวันที่ 26, 29-30 พ.ค.นี้ โดยรุ่นที่ 5-8 เป็นหุ้นกู้ดิจิทัล ขายบนแอปพลิเคชั่นเป๋าตังเท่านั้น เป้าหมายเพื่อชำระคืนหนี้หุ้นกู้และเป็นทุนหมุนเวียนภายในปี 2566

เอไอเอส-ทรูมันนี่ขายรายใหญ่

4.บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เสนอขายหุ้นกู้นักลงทุนสถาบันและรายใหญ่ จำนวน 3 รุ่น (อายุ 5-10 ปี) ยังไม่กำหนดดอกเบี้ยและมูลค่าเสนอขาย เปิดจองซื้อภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดของบริษัทภายในเดือน พ.ค.นี้ และใช้เป็นทุนหมุนเวียนของบริษัท

5.บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด ในกลุ่มทรู เสนอขายหุ้นกู้นักลงทุนสถาบันและรายใหญ่ จำนวน 1 รุ่น อายุ 2 ปี 3 วัน จ่ายดอกเบี้ย 5.95% ต่อปี มูลค่าเสนอขาย 2,000 ล้านบาท เปิดจองซื้อวันที่ 9-11 พ.ค.นี้ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนบริหารสภาพคล่องของบริษัทและบริษัทที่เกี่ยวข้องในกลุ่มบริษัท แอสเซนต์ มันนี่ จำกัด

6.บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) เสนอขายนักลงทุนสถาบันและรายใหญ่ 4 รุ่น (อายุ 3-12 ปี) ยังไม่กำหนดดอกเบี้ยและมูลค่าเสนอขาย เปิดจองซื้อวันที่ 15-17 พ.ค.นี้ เพื่อชำระคืนหนี้และเป็นทุนหมุนเวียนของบริษัทและบริษัทในเครือ

7.บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เสนอขายหุ้นกู้จำนวน 4 รุ่น ยังไม่กำหนดดอกเบี้ยและมูลค่าเสนอขาย เปิดจองซื้อวันที่ 27 เม.ย.-2 พ.ค.นี้ โดยเป็นการเสนอขายนักลงทุนสถาบันและรายใหญ่เช่นกัน