สแตนชาร์ต มองรัฐบาลใหม่-ท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังโต 5.7%

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินจีดีพีไทยปี’66 เหลือ 4.3% จาก 4.5% มองเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง 5.7% หลังรัฐบาลใหม่ หนุนภาคท่องเที่ยว-การบริโภคภายในประเทศ ชี้ 3 ปัจจัยหนุน กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 1 ครั้ง ไปแตะ 2.25% เหตุเศรษฐกิจฟื้นตัว-เงินเฟ้อเพิ่ม-ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ มองค่าเงินบาทแข็งค่าสิ้นปี 34.00 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 20 เมษายน 2566 ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ลงเหลือ 4.3% จากเดิมอยู่ที่ 4.5% โดยในช่วงครึ่งแรกของปีจะขยายตัวอยู่ที่ 2.9% และในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 5.7% ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจะมาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ภายหลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่

ทั้งนี้ ภายใต้จีดีพีขยายตัว 4.3% มองว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ไทยยังมีความผันผวนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อภาคการส่งออกให้ชะลอตัวลง สะท้อนจากตัวเลขในไตรมาสที่ 4/65 ขยายตัวติดลบ 10% และกลับมาเป็นบวก 5% ในไตรมาสที่ 1/66 ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากมีความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะมาสนับสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวได้ดี โดยธนาคารประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ 25 ล้านคน ซึ่งจะเป็นนักท่องเที่ยวจีนราว 5 ล้านคน จากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วราว 8 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสเพิ่มกว่าที่คาดการณ์ไว้ 25 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในช่วงปลายปีนี้

“จีดีพีเดิมเรามองขยายตัว 4.5% ลงมาอยู่ที่ 4.3% แม้ว่าเราจะปรับลดลง แต่ยังคงอยู่ในโซนขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งมาจากครึ่งแรกเรามองเศรษฐกิจชะลอจากเศรษฐกิจโลกชะลอกระทบส่งออก และในช่วงครึ่งหลังจีดีพีจะกลับมาจัมพ์สูงขึ้นจากท่องเที่ยวและรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของประเทศไทย และเป็นปัจจัยบวกเศรฐกิจไทย”

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง อยู่ที่ 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี ในการประชุมวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1 ครั้งอยู่ที่ 2.25%

ซึ่งมาจาก 3 ปัจจัยสนับสนุนให้ปรับดอกเบี้ยขึ้นคือ 1.เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แตกต่างจากสหรัฐที่อยู่ในช่วงชะลอตัว 2.เงินเฟ้อที่จะทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4/66 จากภาคการท่องเที่ยว อาจจะเอื้อการขึ้นดอกเบี้ย โดยธนาคารมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 2.1% ซึ่งไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 4% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.7% ไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 1.2% และไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 1.6%

และ 3.คอมเมนต์จาก ธปท.เรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ที่จะต้องไม่ติดลบ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นลบอยู่ ดังนั้น จึงเอื้อต่อการขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็น 0 หรือบวกเล็กน้อย

ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาท มองว่าแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่ากลางปีนี้อยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ และขยับดีขึ้นในปลายปีโดยกรอบอยู่ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ จากแนวโน้มท่องเที่ยวที่ดีขึ้น และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ประกอบกับสหรัฐลดดอกเบี้ย ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า และเงินบาทแข็งค่าขึ้น

“เศรษฐกิจโลกปีนี้ความผันผวน เราจะอยู่ในความไม่แน่นอนอีก 3-6 เดือน ซึ่งเรามองว่าดอกเบี้ยสหรัฐใกล้จุดสูงสุดแต่ยังไม่สูงสุด โดยคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้ง 0.25% ต่อปี อยู่ที่ 5.25% และในเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือ 5.00% และปี’67 ปรับลดลงอีก 3 ครั้ง เหลือ 4.75% ต่อปี แต่สิ่งสำคัญคือความผันผวน”

ดร.ทิมกล่าวว่า สำหรับมุมมองของนักลงทุนต่อการเมืองไทยนั้น มองว่าการเมืองช่วงเลือกตั้งไม่น่าจะมีปัญหา และเป็นไปอย่างราบรื่น แต่หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นักลงทุนยังคงมีคำถาม 3 คำถาม ได้แก่ 1.รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลชุดใหม่มีเสียงข้างมากหรือเสียงปริ่มน้ำ

2.แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมและได้รับคะแนนเสียงสูงสุดหรือไม่ และ 3.นายกรัฐมนตรีเป็นคนที่มาจากพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดหรือไม่ ซึ่งทั้ง 3 คำถามจะนำมาสู่ทิศทางการเมืองของไทยต่อไป แต่ธนาคารไม่ได้มองว่าเป็นความเสี่ยงหรือความผันผวนแต่อย่างใด

ขณะที่นโยบายการหาเสียงในเรื่องของการแจกเงิน มอง 3 ด้านคือ 1.ทุกพรรคการเมืองจะเน้นมุมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2.นโยบายสามารถมีการปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนที่ดีที่สุด ซึ่งต้องรอดูว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2567 และ 3.บริบทเศรษฐกิจโลกและไทยอาจเปลี่ยนแปลงไป เมื่อถึงตอนนั้นเศรษฐกิจดีขึ้น นโยบายอาจเปลี่ยนไป

“เรามองการเลือกตั้งเป็นเรื่องของความมีเสถียรภาพ และความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจที่จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งเรื่องคะแนนเสียงอาจจะตอบได้ยาก แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะมีเสถียรภาพและเอกภาพกว่า 4 ปีก่อน เนื่องจากมีพรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลอาจจะไม่เยอะเหมือนรอบที่แล้วกว่า 20 พรรค ทำให้การตัดสินใจนโยบายจะมีเสถียรภาพและเอกภาพชัดเจน”