ส่องกองทุนหุ้นปันผล 10 อันดับ รีเทิร์นเด่น

กองทุนหุ้น

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะตลาด นักลงทุนอาจจะมองหาการลงทุนในกองทุนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดี แต่ความเสี่ยงไม่มาก ซึ่งกองทุนหุ้นปันผลอาจจะตอบโจทย์ดังกล่าวได้

โดย “บดินทร์ พุทธอินทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2566 นี้เป็นปีที่น่าสนใจมากสำหรับการลงทุนในกองทุนหุ้นปันผล โดยเฉพาะกองทุนหุ้นปันผลที่เป็นหุ้นโลก (global equity) หลังจากในปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการลงทุนในกลุ่ม thematic ค่อนข้างที่จะติดลบในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน แต่กองทุนหุ้นปันผลทั่วโลกปีที่แล้วมีการปรับตัวลงน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ในมุมของหุ้นตัวที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูงในจังหวะที่ราคาติดลบลงมา นักลงทุนมักจะมองว่าการจ่ายปันผลจะเข้ามาเป็นกระแสเงินสด (cash flow) เพราะฉะนั้นราคาหุ้นกลุ่มที่มีการจ่ายปันผล มักจะปรับตัวลง หรือผันผวนได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ

“ปีนี้ ความผันผวนและความไม่แน่นอนยังมีอยู่ ฉะนั้นกองทุนหุ้นปันผลเป็นอีกกองทุนที่ตอบโจทย์ และเป็นอีกธีมการลงทุนที่ทาง บลจ.อีสท์สปริง แนะนำนักลงทุน ซึ่งเหมาะที่จะใช้เป็นตัวช่วยกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุน” บดินทร์กล่าว

ทั้งนี้ ยังคงแนะนำลงทุนกองทุนหุ้นปันผลในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นทั่วโลก ขณะที่กองทุนหุ้นปันผลในไทย ส่วนใหญ่อยู่ในดัชนี SET50 ซึ่งจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ โดยปีนี้ก็เริ่มมีความน่าสนใจขึ้นพอสมควรจากทิศทางเศรษฐกิจและการบริโภค การจับจ่ายที่จะดีขึ้น และเงินเฟ้อไทยที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ในกรอบ ส่งผลให้ความกดดันในการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดน้อยลง และปัจจุบันราคาหุ้นไทยไม่ได้แพงมาก เทรดกันอยู่ที่ประมาณ 16 เท่า ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้ก็คาดว่าจะโต 13%

“แต่อุตสาหกรรมในไทยยังมีบางอุตสาหกรรมฟื้นได้ดีและบางอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวช้า ฉะนั้นหุ้นไทยยังคงต้องเลือกลงทุนเป็นบางกลุ่มเช่น กลุ่มท่องเที่ยว, การบริโภค เป็นต้น”

“บดินทร์” กล่าวด้วยว่า การซื้อกองทุนหุ้นปันผลกับการซื้อหุ้นปันผลโดยตรง มีความแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งเวลาที่นักลงทุนซื้อหุ้นปันผลโดยตรง ก็จะเลือกซื้อเป็นบางตัว และต้องไปรอลุ้นว่าหุ้นตัวนั้นจะมีการจ่ายปันผลได้จริงในรอบนั้นหรือไม่ ซึ่งเรียกว่าเป็นความเสี่ยงเฉพาะตัวของบริษัทนั้น ๆ แต่หากเป็นกองทุนหุ้นปันผล จะมีการกระจายการลงทุนในหลากหลายบริษัทและหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบ ก็ยังมีกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังจ่ายปันผลได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ยังมีการกระจายความเสี่ยงในตัวของบริษัทที่เข้าไปลงทุนได้ดีกว่า รวมถึงผู้จัดการกองทุนยังมีการเช็กประวัติดูการจ่ายปันผลย้อนหลังของบริษัท ก็ทำให้นักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ไม่ได้รับการจ่ายปันผลได้

ขณะที่ข้อมูลจาก บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่า กองทุนหุ้นปันผลที่มีผลตอบแทนสูงสุดตั้งแต่ต้นปีถึง ณ 17 เม.ย. 2566 (YTD) และย้อนหลัง 6 เดือน 4 อันดับแรกเป็นของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ นำโดยกองทุน SCBNEXT(SSFE) ผลตอบแทน YTD อยู่ที่ 23.73% และย้อนหลัง 6 เดือน 11.98%

กองทุน SCBSEMI (SSFE) ผลตอบแทน YTD ที่ 22.68% ย้อนหลัง 6 เดือน 40.69% กองทุน SCBEUROPE (SSFE) ผลตอบแทน YTD ที่ 19.22% และย้อนหลัง 6 เดือน 27.44% กองทุน SCBINNO (SSFE) ผลตอบแทน YTD ที่ 18.45% ย้อนหลัง 6 เดือน 4.03% และกองทุน LHSEMICON-D จาก บลจ.เเลนด์ เเอนด์ เฮ้าส์ ผลตอบแทน YTD ที่ 17.26% และย้อนหลัง 6 เดือน ที่ 30.75% (ดูตาราง)

ตร.หุ้นปันผล

ด้าน “รัชดา ตั้งหะรัฐ” กรรมการผู้จัดการอาวุโส สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า โดยปกติแล้วเงินปันผลจากกองทุนรวมจะคิดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เท่ากับ 10% เสมือนเป็นภาษีค่าผ่านทาง ซึ่งมองว่าอาจจะเป็นกองทุนที่เหมาะกับนักลงทุนบางประเภทที่อาจจะไม่ได้มีความรู้ด้านการลงทุนมากพอที่จะลงทุนด้วยตนเอง และเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ได้เป็นสายเก็งกำไร แต่เป็นในลักษณะถือยาว

“กองทุนประเภทที่มีการจ่ายปันผล มีความเสี่ยงที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับซื้อหุ้นปันผลโดยตรง เพราะจะมีผู้เชี่ยวชาญค่อยปรับนโยบายการลงทุน ดังนั้น จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ยังมีประสบการณ์ไม่เยอะ ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งได้ แต่หากมองในมุมของนักลงทุนที่มีประสบการณ์กองทุนประเภทนี้ก็อาจจะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าไหร่นัก ทั้งนี้ ในมุมมองของการเลือกลงทุน ก็ยังคงแนะนำให้จัดพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยง ไม่กระจุกตัว จะช่วยสร้างสมดุลพอร์ตลงทุนที่ดีได้” รัชดากล่าว

ไม่ว่าการลงทุนสินทรัพย์ประเภทใด ก็มีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้