กางสถิติย้อนหลัง คำว่า Sell in May ยังใช้ได้ในปัจจุบันหรือไม่

Sell in May
คอลัมน์​: สถานีลงทุน
ผู้เขียน : สวภพ ยนต์ศรี บลจ.ทิสโก้

เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนพฤษภาคมนักลงทุนน่าจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า Sell in May and Go Away ? ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นสถิติที่มักจะเกิดขึ้นในตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีความเชื่อว่า นักลงทุนมักจะเทขายหุ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งในประเทศซีกโลกตะวันตกทั้งในสหรัฐ และยุโรปคือช่วงฤดูร้อนที่เหมาะกับการท่องเที่ยวและพักผ่อน นอกจากนั้นช่วงเดือนพฤษภาคม คือ ช่วงหลังจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและเป็นช่วงที่มักจะมีการจ่ายเงินปันผลจึงมักจะเกิดการขายทำกำไรของนักลงทุน

แต่คำว่า Sell in May ที่เราได้ยินมานานหลายสิบปีหากนำมาใช้กับปัจจุบัน อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก เมื่อดูจากสถิติย้อนหลังที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากดูข้อมูลจาก Bloomberg ที่ได้แสดงผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐ ผ่านดัชนี S&P500 พบว่านับตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปี 2022 ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกในเดือนพฤษภาคมถึง 9 จาก 10 ปี โดยมีเพียงปี 2019 เท่านั้นที่ตลาดปรับตัวลดลง -6.58% โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ +0.86% และหากตัดปี 2019 ที่ตลาดปรับตัวลดลงแรงจะพบว่าใน 9 ปีที่ตลาดให้ผลตอบแทนเป็นบวกจะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ +1.69%

และสำหรับในปี 2023 นี้ตลาดหุ้นสหรัฐในเดือนพฤษภาคมจะผ่านเหตุการณ์สำคัญคือการประชุม Fed ครั้งสำคัญในวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ตลาดคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นการประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในวัฏจัรการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ นั่นทำให้เดือนพฤษภาคมอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และคำว่า Sell in May อาจไม่สามารถนำมาใช้กับตลาดหุ้นสหรัฐได้อีก

แต่ในทางกลับกันหากหันมาดูที่สถิติที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2013-2022 พบว่าในเดือนพฤษภาคม ดัชนี SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นลบในช่วง 6 จาก 10 ปีหลัง และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -0.57% โดยในปี 2020 เป็นปีที่ผลตอบแทนในเดือนพฤษภาคมดีที่สุดอยู่ที่ +3.16% ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ตลาดปรับตัวลงแรงสู่จุดต่ำสุดในช่วงเดือนมีนาคม และฟื้นตัวขึ้นได้ดีหลังจากนั้น โดยหากตัดปี 2020 ออกไปผลตอบแทนเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคมจะอยู่ที่ -1.00%

สำหรับในปีนี้ เหตุการณ์สำคัญที่น่าจะส่งกระทบต่อตลาดหุ้นไทย คือการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยหากอ้างอิงจากงานวิจัยของ TISCO Research พบว่าในช่วง 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งผลตอบแทนเฉลี่ยของ SET Index อยู่ที่ราว +2.5% และในช่วง 2 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง ผลตอบแทนเฉลี่ยของ SET Index อยู่ที่ราว +2.6% ซึ่งสถิติที่เกิดขึ้นในอดีตน่าจะเป็นผลมาจากความชัดเจนของผลเลือกตั้งหากว่าไม่มีเหตุการณ์พิเศษอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นในปีนี้คำว่า Sell in May ก็อาจะไม่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยเช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นต่างประเทศ

และเมื่อสำรวจปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี ทั้งในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศแล้ว นอกจากคำว่า Sell in May อาจจะไม่สามารถทำมาใช้ได้ในปีนี้แล้ว นักลงทุนอาจจะต้องพิจารณาถึงคำว่า Buy in May ซึ่งก็คือการตัดสินใจลงทุนในช่วงเดือนพฤษภาคม

เนื่องจากหากว่าการประชุมในเดือนพฤษภาคมเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยจริง ๆ ประกอบกับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ประกาศออกมาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของผลการดำเนินงานในปีนี้ โดยมีโอกาสที่ช่วงที่เหลือของปีผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น และยังมีตัวเลขเงินเฟ้อที่เคยเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นน่าจะเริ่มชะลอตัวลงเรื่อย ๆ หลังจากนี้ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐ มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

ด้านตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี เมื่อสำรวจปัจจัยบวกในช่วงที่เหลือของปี จะพบว่านอกจากประเด็นการเลือกตั้งแล้ว ปัจจัยที่น่าจะสนับสนุนหุ้นไทยได้คือ เศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแกร่งที่หนุนโดยภาคบริโภคและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ที่ราว 6.5 ล้านคนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 24-26 ล้านคน

ดังนั้น ในปี 2023 นี้ นักลงทุนอาจจะต้องเปลี่ยนจากความกังวลว่าจะเกิด Sell in May ในเดือนพฤษภาคม มาพิจารณาหาจังหวะลงทุน Buy in May ในเดือนพฤษภาคม เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีรับปัจจัยบวกในช่วงที่เหลือของปี ก็ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว