แบงก์ชาติ เปิด 4 จุดสังเกตก่อนกู้ออนไลน์ ต้องรู้ทันโจร

สมาร์ทโฟน ธุรกรรม การเงิน มิจฉาชีพ ความปลอดภัย
Photo by Rasheed Kemy on Unsplash

ธนาคารแห่งประเทศ แนะ 4 ข้อสังเกตก่อนกู้เงินออนไลน์ ก่อนตกเป็นเหยื่อ หวั่นมิจฉาชีพ-กู้นอกระบบคิดดอกเบี้ย/ตามหนี้โหด หวังปิดช่องโหว่เพื่อป้องกันภัยการเงิน

วันที่ 11 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การกู้เงินในยุคปัจจุบันทำได้ง่ายและรวดเร็วผ่านมือถือโดยไม่ต้องออกจากบ้านให้ยุ่งยาก แต่สิ่งที่ยากสำหรับผู้กู้คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือผู้ให้กู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ยหรือทวงถามหนี้โหด หรือไม่ใช่มิจฉาชีพที่จะมาหลอกเอาเงินเราไป

และยิ่งหากได้รับ “SMS” หรือมีคน “โทรศัพท์” หรือ “แอดไลน์” (add Line) มาแล้วอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่จะให้เงินกู้หรือให้เงินช่วยเหลือ อย่ารีบกดลิงก์หรือกรอกข้อมูล ควรเช็กให้ชัวร์ก่อน จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวง โดยมีวิธีสังเกต ดังนี้

1. แยกแยะผู้ให้เงินกู้

ลองมาดูว่าผู้ให้บริการ 3 แห่งด้านล่างนี้ ใครคือผู้ให้กู้ในระบบ ผู้ให้กู้นอกระบบ และมิจฉาชีพ

Advertisment
  • ผู้ให้กู้ในระบบหรือผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต (แอป A) จะให้เงินกู้เราเต็มจำนวน และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด
  • ผู้ให้กู้นอกระบบ (แอป B) มักให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน แต่เมื่อคืนเงินกู้ต้องจ่ายเต็มจำนวนบวกกับดอกเบี้ยหรือค่าปรับที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด หากจ่ายช้าจะถูกข่มขู่ หรือไปทวงกับบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในโทรศัพท์ของผู้กู้ ทำให้อับอาย เพราะผู้ให้กู้นอกระบบบางรายจะให้ผู้กู้ดาวน์โหลดแอปซึ่งให้คลิกอนุญาตเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ
  • แอปเงินกู้ปลอม ที่ไม่ได้ให้เงินกู้ (แอป C) โดยจะใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น โฆษณาบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ส่ง SMS หรือแม้แต่โทร.หาโดยตรง หากผู้ที่ได้รับการติดต่อสนใจ มิจฉาชีพก็จะส่ง SMS มาให้คลิกลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอป หรือให้แอดไลน์คุยกัน จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคาร ทำให้เหยื่อเริ่มเชื่อใจ

จากนั้นจะโน้มน้าวให้โอนเงินเป็นค่าค้ำประกัน โดยบอกว่าจะคืนให้พร้อมกับเงินกู้ หากหลงกลก็จะหลอกล่อให้โอนเพิ่มอีกเรื่อย ๆ เช่น อ้างว่าโอนเงินไม่ได้เพราะเหยื่อกรอกเลขที่บัญชีผิด มีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเอกสารเพื่อปลดล็อก หรือต้องจ่ายค่าลัดคิวจึงจะได้เงินเร็วขึ้น หากเหยื่อเริ่มรู้ทันก็จะถูกบล็อก ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้อีก

2. ไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งคลิก

หากลองแยกแยะแล้ว ยังไม่แน่ใจว่าจะใช่ผู้ให้กู้ในระบบหรือเปล่า ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้บริการ ดังนี้

  • ตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ นำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “เช็กแอปเงินกู้” ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว
  • ติดต่อสอบถามตามที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์ที่ได้จากข้อ 1) เพราะบางครั้งมิจฉาชีพหรือแอปเงินกู้นอกระบบจะตั้งชื่อแอปคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือสวมรอยเป็นผู้ได้รับอนุญาต เราจึงควรสอบถามหรือหาข้อมูลด้วยตัวเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ว่าเป็นแอปของผู้ให้บริการจริงหรือไม่

3. เลือกแหล่งดาวน์โหลดแอปที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่ใช้โทรศัพท์มือถือที่ถูก jail break ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันภัยจากมัลแวร์

Advertisment

4. อย่าลืมอ่านเงื่อนไขก่อนกู้

ไม่รีบกู้จนลืมดูรายละเอียดที่จำเป็น เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืน ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของเราโดยควรกู้เท่าที่จำเป็น และรวมภาระผ่อนชำระหนี้ทุกก้อนของเราต่อเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน เพื่อไม่เกินกว่าที่เราจ่ายคืนได้

การปราบปรามและควบคุมดูแลเงินกู้นอกระบบและมิจฉาชีพเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปิดช่องโหว่เพื่อป้องกันภัยการเงิน ขณะเดียวกันการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือการติดตามข่าวสารการเตือนภัยสม่ำเสมอเพื่อให้รู้เท่าทัน เช่น เพจเตือนภัยออนไลน์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สำคัญต้องไตร่ตรองด้วยเหตุและผล หากไม่แน่ใจให้สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องก่อน ก็จะช่วยให้เราใช้บริการออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

หากโอนเงินไปให้มิจฉาชีพแล้ว ให้รีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจหรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com