กองทุน CMDF ควัก 100 ล้าน สนับสนุนค่าใช้จ่ายออก ESG Bond

ESG

กองทุน CMDF x สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยควัก 100 ล้านบาท สนับสนุนค่าใช้จ่ายผู้ออก ESG Bond รายละไม่เกิน 2 ล้าน มีเงื่อนไขต้องระดมทุนขั้นต่ำ 100 ล้านบาทต่อรุ่น

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ได้ร่วมกันจัดสัมมนา “Enable ESG Bond Issuance : Investor Demand, Corporate Experiences, and New Funding Support” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้กลุ่มความยั่งยืน หรือ ESG bond (Green, Social, Sustainability bond and Sustainability-linked Bond) โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานรวมกว่า 300 คน

ESG bond มูลค่าคงค้าง 5 แสนล้าน

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า การเติบโตของการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ESG bond ในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนมีมูลค่าคงค้างกว่า 5.83 แสนล้านบาท โดยมีผู้ออกภาครัฐ 6 องค์กร และภาคเอกชนรวมกว่า 23 บริษัท

 ก.ล.ต.เว้นค่าฟีไฟลิ่งจนถึง 31 พ.ค. 68

นายทยากร จิตรกุลเดชา ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับเกณฑ์การออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ตราสารหนี้ปัจจุบัน โดยมีหลักการเพิ่มเติม ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานที่ใช้ การสนับสนุนให้มีผู้ประเมินภายนอกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และการรายงานหลังการขาย โดยปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตและไฟลิ่งสำหรับ ESG bond จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2568

กองทุน CMDF ควัก 100 ล้าน สนับสนุนออก ESG Bond

นายชนันต์ ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า กองทุนได้จัดโครงการให้ทุนสนับสนุนและส่งเสริมการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (ESG Bond Issuance Grant Scheme) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง ThaiBMA และ CMDF โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจสอบหรือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond)

ให้แก่องค์กรที่ออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เป็น ESG Bond (ไม่จำกัดสกุลเงิน) ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และระดมทุนขั้นต่ำ 100 ล้านบาทต่อรุ่น โดย CMDF จะให้ทุนสนับสนุนตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ต่อประเภทของ ESG Bond โดยมีวงเงินโครงการรวมทั้งสิ้น 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ESG bond ที่สามารถขอรับการสนับสนุนดังกล่าวจะต้องออกเสนอขายระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 โดยผู้สนใจสามารถติดต่อ ThaiBMA เพื่อขอข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม

นางสาวอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หมายถึงการรักษาสมดุลระหว่างการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมต่าง ๆ และการดูดกลับคาร์บอน ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) เป็นการรักษาสมดุลของปริมาณการปล่อยและการดูดกลับที่ครอบคลุมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยมุ่งเน้นเป้าหมายระยะยาวขององค์กร โดยปัจจุบันมีองค์กรที่เป็นผู้นำในการตั้งเป้าหมาย Net Zero ในประเทศไทยจำนวน 91 องค์กร

นายฐานันดร โชลิตกุล Associate Chief Investment Officer (fixed income) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย กล่าวว่า หลักการพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน โดยยึดหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ Principles for Responsible Investment (PRI Signatory) ซึ่งเป็นหลักการลงทุนระดับสากลที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และการนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน