ดอลลาร์อ่อนค่า รอตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนจับตารอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐคืนนี้ อาจมีผลต่อการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยของเฟดที่จะประชุมกันวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ตามเวลาในสหรัฐ  ส่วนธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB คาดยังจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/6) ที่ระดับ 34.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/6) ที่ระดับ 34.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าระหว่างวัน

โดยนักลงทุนจับตารอดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพฤษภาคมของสหรัฐ ที่จะมีการประกาศในคืนนี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อาจส่งผลต่อทิศทางการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 13-14 มิถุนายน 2566 นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขดัชนี CPI ทั่วไป จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.3% หรือชะลอตัวจากระดับ 5.5% ในเดือนก่อนหน้า

การคาดการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐอาจพ้นจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% สำหรับการประชุมในรอบที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.47-34.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/6) ที่ระดับ 1.0767/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/6) ที่ระดับ 1.0777/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์

ประกอบกับตลาดกำลังจับตารอดูผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน 2566 นี้ โดยคาดว่า ECB จะยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ก่อนที่จะพักการดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0756/808 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0799-1.0801 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/6) ที่ระดับ 13955/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/6) ที่ 139.16/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในคืนวาน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนเมษายน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต โดยเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ที่มีการขยายตัว 7.4% ถือป็นการชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวลดลง

ภาพรวมตลาดยังคงจับตารอดูการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15-16 มิถุนายน 2566 ซึ่งคาดว่า BOJ จะยัคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับ 0%

อย่างไรก็ตามนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้มีการแถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นว่า BOJ อาจยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control-YCC) หากตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นสามารถปรับตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายของ BOJ ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.33-139.66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 139.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนพฤษภาคมจากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) (13/6), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤษภาคมของสหรัฐ (13/6), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนจากสถาบัน ZEW ของยูโรโซน (13/6), อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของเยอรมนี (13/6), และอัตราว่างงานเดือนเมษายนของอังกฤษ (13/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.40/-11.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.30/-9.95 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ