เปิดสถิติ 10 ปี ไอพีโอหุ้นไทย 305 บริษัท 65% มีกำไรเติบโตทุกปี

ตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดสถิติ 10 ปี บริษัทขายหุ้นไอพีโอทั้งหมด 305 บริษัท สัดส่วน 65% มีกำไรเติบโตทุกปี มีเพียง 25 บริษัท ที่ผลประกอบการรวมขาดทุนในช่วง 3 ปีหลังเข้าไอพีโอ

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นางสาวพักตร์ธิดา คำทอง ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่ไอพีโอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า

– ในช่วงปี 2556-2565 มีบริษัทเข้าจดทะเบียน IPO ในตลาดหลักทรัพย์ไทยทั้งหมด 305 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่ไอพีโอในตลาด SET และ mai ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และมีการกระจายตัวในเชิงกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยมีความโดดเด่นในกลุ่ม Services และ Property & Construction ที่มีสัดส่วนจำนวน บจ.ไอพีโอมากที่สุด

– ในด้านผลประกอบการช่วง 3 ปีหลังเข้าไอพีโอ พบว่าเติบโตดี โดย 40-50% ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ไอพีโอมีผลกำไรเฉลี่ยเติบโตมากกว่า 20% ต่อปี และ 65% มีผลกำไรเฉลี่ยเติบโตทุกปี โดยพบ 61% ของบริษัทในกลุ่ม SET100 49% ของบริษัทในกลุ่ม Non SET100 และ 44% ของบริษัทในกลุ่ม mai ที่เติบโตเฉลี่ยในอัตราที่เกินกว่า 20% ต่อปีด้วย

ทั้งนี้ บจ.ในกลุ่ม Financials และ Resources โดดเด่นที่สุด มีสัดส่วนบริษัท

Advertisment

75-80% ที่มีกำไรเฉลี่ยเติบโตทุกปี และมี 25 บริษัท หรือคิดเป็นเพียง 8% ของ บจ.ไอพีโอทั้งหมด ที่มีผลประกอบการรวมขาดทุนในช่วง 3 ปีหลังเข้าไอพีโอ

– สำหรับการเติบโตของรายได้ พบว่า บจ.มีรายได้ช่วง 3 ปีหลังไอพีโอเติบโตดีมาก เกือบ 80% มีรายได้เฉลี่ยเติบโตทุกปี โดยพบว่ากลุ่ม Financials โดดเด่นที่สุด อีกทั้งประมาณ 30% ของ บจ.ที่เข้าไอพีโอทั้งในตลาด SET และ mai มีรายได้เฉลี่ยเติบโตมากกว่า 20% ต่อปีอีกด้วย ซึ่งในระดับรายอุตสาหกรรมพบว่า 80-90% ของ บจ.ในกลุ่ม Financials, Technology, Services และ Agro & Food มีรายได้เฉลี่ย 3 ปีหลังไอพีโอเติบโตทุกปี

– ด้านการเติบโตของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) พบประมาณครึ่งหนึ่งของ บจ.ที่ไอพีโอในตลาด SET และประมาณ 70% ในตลาด mai เติบโตได้ดีหลังเข้าจดทะเบียน อีกทั้งยังพบ 21 บริษัทที่เติบโตจนได้ย้ายจากตลาด mai ไปที่ SET หรือคิดเป็น 14% ของ บจ.ที่เข้าไอพีโอในตลาด mai ทั้งหมดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เกินครึ่งหนึ่งของ บจ.เหล่านี้ใช้เวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี เพื่อที่จะเติบโตและได้ย้ายตลาด โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Resources และ Services

การที่บริษัทเข้ามาไอพีโอนอกจากตัวบริษัทได้ใช้กลไกตลาดทุนเพื่อระดมทุนไปขยายธุรกิจให้เติบโตได้แล้ว ในมุมผู้ลงทุน บริษัทไอพีโอเหล่านี้ยังเป็นทางเลือกให้สามารถลงทุนในธุรกิจได้หลากหลาย เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ดีขึ้น

Advertisment

ไอพีโอหุ้น

ไอพีโอหุ้นไทย