DSI ยก 3 เคสคดีทุจริต POLAR-EARTH-IFEC ย้ำรอบคอบ-ทำตามกรอบ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ คดี คดีพิเศษ
แฟ้มภาพ

DSI แจ้งผลการสอบสวนคดีทุจริต 3 หุ้นดัง “POLAR -EARTH-IFEC” ยันดำเนินการทุกคดีรอบคอบ-รัดกุม ชี้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบระยะเวลา ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมาย

วันที่ 23 กรกฎาคม 2566 รายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สอบสวนดำเนินคดีทุจริตหุ้น POLAR, EARTH และ IFEC ที่มีการสร้างหนี้อันเป็นเท็จและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษขอแจ้งผลและความคืบหน้าในการสอบสวน จำนวน 5 คดีพิเศษ ดังนี้

1. คดีพิเศษที่ 167/2561 กรณีผู้บริหารบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) “POLAR” ได้ร่วมกันหรือสนับสนุนการแกล้งให้บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) เป็นหนี้เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 สอบสวนแล้วเสร็จ และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษแล้ว โดยต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีความเห็นแย้งส่งไปยังอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

2. คดีพิเศษที่ 228/2560 กรณีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ขอวงเงินสินเชื่อเพื่อการชำระค่าสินค้า (Import Financing) จากธนาคารโดยยื่นเอกสารเท็จประกอบการเบิกสินเชื่อ เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยเสียหาย

กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ได้ทำการสอบสวนแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

3. คดีพิเศษที่ 59/2562 กรณีผู้บริหารของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) กับพวก วางแผนและร่วมมือกันเพื่อแกล้งให้บริษัท เป็นหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง และจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ

กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ได้ทำการสอบสวนแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

4. คดีพิเศษที่ 57/2563 กรณีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH และผู้บริหารกระทำผิดฐานไม่นําส่งเอกสารหรือรายงานตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สั่งการ และปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสําคัญ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลที่ทําให้สําคัญผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหิน อันเป็นความผิดตามมาตรา 240

กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ได้ทำการสอบสวนแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

5. คดีพิเศษที่ 50/2564 กรณีกรรมการบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “IFEC” ได้กล่าวหากรรมการชุดเดิมว่าได้กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้บริษัท IFEC และอื่น ๆ ได้รับความเสียหายเป็นเงินกว่าหนึ่งพันล้านบาท

กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทุกชนิด ด้วยความรอบคอบ รัดกุม เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามกรอบระยะเวลา ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้