สศช.เปิดตัวเลขหนี้ครัวเรือน Q1/66 พุ่ง 3.6% หนี้เสียรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 14 ไตรมาส

หนี้ครัวเรือน
ภาพจาก pixabay

สภาพัฒน์เปิดตัวหนี้ครัวเรือนไตรมาสที่ 1/66 เพิ่มขึ้น 3.6% ยอดหนี้อยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท ความสามารถชำระหนี้ครัวเรือนถดถอย ดันเอ็นพีแอลเร่งตัวอยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท หรือ 2.68% จับตา หนี้เสีย-กำลังจะเสียสินเชื่อรถยนต์ หลังหนี้เสียไตรมาสที่ 1 แตะ 2.3 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นในรอบ 14 ไตรมาส หวั่นลูกหนี้สหกรณ์ติดกับดักหนี้

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าภาพรวมหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาสที่ 1/2566 ภายใต้คำนิยามใหม่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ทำให้มีมูลหนี้เพิ่มขึ้นสุทธิ 7 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5%

ทั้งนี้ หากดูมูลค่าหนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี ณ ไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 91.4%

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และบัตรเครดิตเป็นสำคัญ ซึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2565 ที่ขยายตัว 1.2% และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 5.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2565 ที่อยู่ 4.4%

ขณะที่ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลงเล็กน้อย โดยตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.68% ของสินเชื่อรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2565 ที่อยู่ 1.40 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.62% ของสินเชื่อรวม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามคือ หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อรถยนต์ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขค้างชำระตั้งแต่ 30 วัน แต่ไม่ถึง 90 วัน หรือสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ในไตรมาสที่ 1/2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13.9% จากไตรมาสที่ 4/2565 อยู่ที่ 13.7% ขณะที่หนี้คงค้างเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์ในไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 14 ไตรมาส

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการติดกับดักของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) พบว่าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ถือเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสหกรณ์ประเภทอื่น หรือคิดเป็น 88% ของเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกในสหกรณ์ทุกประเภท โดยในปี 2565 มีมูลค่าเงินให้กู้ยืมทั้งสิ้น 9.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% แต่หากพิจารณาวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม จะพบว่าสัดส่วนประมาณ 26.1% นำมาใช้จ่ายส่วนตัว และอีกประมาณ 23.1% เพื่อชำระหนี้เดิม หรือเกือบครึ่งเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ ซึ่งสหกรณ์ต้องเข้ามาดูแล

“หนี้ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามนิยามของ ธปท. 7 แสนล้านบาท จะเห็นว่าหนี้เพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีการผิดนัดชำระได้มีการแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคล ซึ่งมีโอกาสหลุดพ้นสูงขึ้น และหนี้สหกรณ์จะเป็นหนี้ประกอบธุรกิจ ถือเป็นหนี้ที่มี Productivity loan แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามคือ หนี้เสียรถยนต์ และ SM ที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระบบต่อไป