บาทอ่อนค่า ท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลออก

เงินบาท

เงินบาทอ่อนค่า ท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลออก หลังนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิกว่า 5,134 ล้านบาท ลุ้นประชุมครม.นัดแรก 13 ก.ย. นี้ ลดค่าครองชีพให้ประชาชน 

วันที่ 12 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 12 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/9) ที่ระดับ 35.54/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/9) ที่ระดับ 35.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากขาดปัจจัยชี้นำในตลาดระหว่างการซื้อขายที่ตลาดปริวรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยนักลงทุนติดตามการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนสิงหาคมของสหรัฐ ที่จะเปิดเผยในคืนวันพุธตามเวลาไทย เพื่อคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐต่อไป โดยการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่จะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้

ซึ่ง FedWatch Tool บ่งชี้ว่าในการประชุมที่จะถึงนี้ นักลงทุนกว่า 93.0% คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ส่วนการประชุมในครั้งต่อไป (31/10-1/11) นักลงทุน 57.6% ได้คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป ส่วนอีก 39.8% ได้คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนต่างติดตามการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาวันที่สอง หลังจากเมื่อวานนี้ (11/9) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในภาพรวม ซึ่งมีทั้งกรอบระยะสั้นที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ปรับขึ้นเป็น 400 บาท/วัน โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

และกรอบระยะกลาง-ระยะยาว ที่รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้นายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกในวันพรุ่งนี้ (13/9) รัฐบาลจะออกมาตรการหลายอย่างในการดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น การลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน ตลอดจนเรื่องฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน และให้มาตรการพักหนี้เกษตรเป็นมาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยจะพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทยังได้รับปัจจัยกดดันให้เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าผ่านเงินทุนไหลออก โดยนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิกว่า 5,134 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรระยะสั้น 84 ล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 5,000 ล้านบาท ซึ่งระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.51-35.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.62/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/9) ที่ระดับ 1.0742/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/9) ที่ระดับ 1.0731/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของยุโรป (ZEW) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีประจำเดือนกันยายนที่ระดับ -11.4 มากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -15.0 และถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -12.3 ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0710-1.0768 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0718/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/9) ที่ระดับ 146.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/9) ที่ระดับ 146.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากปัจจัยหนุนที่ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าจากการส่งสัญญาณยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงที่ผ่านมาเริ่มจางหายไป

โดยสำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยบทวิเคราะห์สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของบีโอเจในช่วงต่อจากนี้ ว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะแทรกแซงตลาดด้วยการเข้าซื้อพันธบัตร และอาจพิจารณาการปล่อยสินเชื่อระยะ 2 ปี หรือ 5 ปี แก่ธนาคารพาณิชย์แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อสกัดกั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่ให้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะบอนด์ยิลด์ระยะสั้นและระยะกลางส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนการกู้ยืมในภาคเอกชน

และเนื่องจากญี่ปุ่นมีฐานะการคลังที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน ดังนั้น การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวพุ่งสูงอย่างฉับพลันจะทำให้ต้นทุนการชำระหนี้ของญี่ปุ่นพุ่งสูงตามไปด้วย และด้วยเหตุนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะคงเพดานอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไว้ตามเดิมก่อน แม้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคต

ทั้งนี้ ในภาพรวมตลาดยังจับตารอดูท่าทีรวมถึงแนวทางการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนจากธนาคารกลางญี่ปุ่นนอกเหนือจากการชี้นำทิศทางนโยบาย (Forward Guidance) จากนายคาสุโอะ อุเอดะ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.44-146.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ (13/9), การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (14/9), ดัชนีราคาผู้ผลิตของ และดัชนียอดค้าปลีกสหรัฐ (14/9), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (14/9), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมและดัชนียอดค้าปลีกของจีน (15/9), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกน และดัชนีภาคการผลิตเขตรัฐนิวยอร์กสหรัฐ (15/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.60/-10.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.10/-7.40 สตางค์/ดอลลาร์