กสิกรไทยมองเศรษฐกิจปี’67 ปรับดีขึ้น พร้อมช่วยลูกค้าเข้าถึงต้นทุนการเงินต่ำ

ขัตติยา อินทรวิชัย
ขัตติยา อินทรวิชัย

กสิกรไทย มองเศรษฐกิจปี 2567 ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายต้องรับมือ เดินหน้าพร้อมดูแลให้ผู้ประกอบการเรื่องภาระต้นทุนการเงินให้อยู่ในระดับต่ำ หลังมีสัดส่วนต้นทุนการเงิน 5% ของต้นทุนทั้งหมด

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวภายในงาน “Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today” ภายใต้หัวข้อ “บทบาทสถาบันการเงินกับอนาคตธุรกิจไทย” ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องเผชิญและมีความหลากหลายมากขึ้น

ทั้งนี้ หากเทียบเศรษฐกิจไทยเป็นรถยนต์ที่จะนำพาไทยไปสู่เป้าหมาย แต่ภายใต้เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยจึงจำเป็นต้องมีการอัพเกรดต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนได้ภายใต้ปัจจัยเสี่ยง ทั้งในเรื่องของปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชาชนเกิดลดลง หรือปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยกระทบเศรษฐกิจไทยในระยะกลางและระยะยาว

อย่างไรก็ดี บทบาทอนาคตธุรกิจไทยจะต้องมีความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ 1.Regulator ผู้กำกับ ซึ่งแต่ผู้กำกับจะมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำทาง GPS ซึ่งในเชิงผู้กำกับดูสถาบันการเงิน จะต้องเตือนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น การออกเกณฑ์กฎระเบียบต่าง ๆ หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถบอกได้ว่าเมื่อไรควรแตะเบรก ควรชะลอ หรือควรเร่ง

2.Real Sector ภาคเศรษฐกิจจริง เป็นเหมือนเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนรถยนต์ ในการวางแผนธุรกิจ และจัดสรรทรัพยากรบุคคล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

และ 3.สถาบันการเงิน จะเป็นตัวจ่ายพลังงาน เพื่อให้รถขับเคลื่อน และเป็นตัวกลางในการรับเงินฝาก และปล่อยสินเชื่อ แต่หน้าที่สถาบันการเงิน คือ ทำให้ต้นทุนลดลง และไม่เป็นภาระต่อการเติบของเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารจะทำหน้าที่การให้บริการทางการเงินในต้นทุนที่ต่ำ หากดูต้นทุนของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประมาณ 70-80% จะเป็นเรื่องของวัตถุดิบ แรงงาน ที่ดิน และเครื่องจักร แต่หากผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยลดต้นทุนได้ โดยต้นทุนการเงินมีสัดส่วนเพียง 5% ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารพยายามจะช่วยรับภาระต้นทุนและลดต้นทุนส่วนนี้เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนานวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างยั่งยืน จากปัจจุบันพบว่า การเข้าถึงสินเชื่อไม่ถึง 50% เมื่อเทียบกับเงินฝากที่มีสัดส่วน 88% ดังนั้น ธนาคารจำเป็นต้องพัฒนาดัชนีการให้สินเชื่อมีความเหมาะสม โดยประเมินกระแสเงินสด (Cash Flow) หรือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า (Risk Based Pricing) เป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามสนับสนุน รวมถึงการสร้างการตื่นรู้ในเรื่องของ ESG เป็นต้น

“แบงก์มีหน้าที่ในการช่วยคนไทยผู้ประกอบการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำ การเข้าถึงบริการ และบริการนอกเหนือการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด และจะต้องทำเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแค่เพียงปีเดียวจบ เราต้องใช้เวลา แต่หากมีการร่วมมือกันทำในโมเดลรูปแบบใหม่ จะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด”

นางสาวขัตติยากล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารยังคงดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมีมาตรการดูแลไว้รองรับ และปัจจุบันยังไม่ได้มีผลกระทบมาก และการช่วยเหลือยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี สินเชื่อกลุ่มที่ยังคงต้องติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ยังคงมีความเปราะบาง และสินเชื่อยังคงมีอัตราการเติบโตค่อนข้างช้า