ทิสโก้ชี้เป้า 3 สินทรัพย์ทางรอด สร้างกำไรโค้งสุดท้ายปี 2566

บลจ.ทิสโก้

ธนาคารทิสโก้ชี้เป้า 3 สินทรัพย์ทางรอด ทยอยสะสม “ตราสารหนี้ต่างประเทศ-หุ้นเฮลท์แคร์-ทองคำ” โอกาสสร้างกำไรท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงโค้งสุดท้ายปี 2566 จากภาวะสงคราม-อัตราดอกเบี้ยสูง-ราคาหุ้นแพง

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ธนาคารทิสโก้แนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน 3 สินทรัพย์ปลอดภัยคือ 1.ตราสารหนี้ต่างประเทศ 2.หุ้นเฮลท์แคร์ และ 3.ทองคำ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างกำไรท่ามกลางปัจจัยกดดันในช่วงไตรมาส 4/2566 ซึ่งมีอยู่ 3 ประเด็นคือ

ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์

1.สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส 2.อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง เพิ่มความตึงตัวให้กับสภาวะการเงิน กดดันการเติบโตเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และ 3.ตลาดหุ้นแพง เพราะตลาดคาดการณ์กำไรตลาดหุ้นสหรัฐในปี 2567 สูงเกินไป และไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

โดย Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่าปีหน้ากำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐจะเติบโต 12% สวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะเติบโต 1% สำหรับสินทรัพย์ที่ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ทยอยเข้าลงทุนในช่วงนี้ ได้แก่

1.ตราสารหนี้ต่างประเทศ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ภาคเอกชน ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ, ยุโรป และอังกฤษ อายุเฉลี่ยระยะกลางถึงยาว และมีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AA- ขึ้นไป พร้อมทั้งควรเป็นตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนเมื่อถือจนครบกำหนดอายุ (YTM) มากกว่า 5% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ไทยที่อยู่ราว 2.5%

ทั้งนี้ หากปี 2567 เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย จนทำให้ธนาคารกลางต้องหันกลับมาลดอัตราดอกเบี้ยลง การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจาก 2 ทางคือ 1.ได้รับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเมื่อถือจนครบกำหนดอายุ 2.เพิ่มโอกาสรับกำไรจากส่วนต่างด้านราคาหน้าตั๋ว (Capital Gain) กว่า 10% สะท้อนให้เห็นว่าตราสารหนี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ในระดับสูงและมีความเสี่ยงที่ต่ำ (Low Risk High Return)

2.หุ้นกลุ่มเชิงรับ (Defensive) เช่น หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ โดยถือเป็นกลุ่มที่รายได้มีความแข็งแกร่ง จากการขายสินค้าจำเป็น ทำให้ความต้องการสินค้าไม่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจ นอกจากนี้บริษัทในอุตสาหกรรมนี้ยังมีอำนาจในการปรับขึ้นราคาสินค้า (Pricing Power) และมีความสามารถในการควบคุมต้นทุนในช่วงที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลขอัตรากำไร (Profit Margin) ที่อยู่ในระดับสูงและมีความสม่ำเสมอ

กำไรของธุรกิจเฮลท์แคร์ จึงมีความแข็งแกร่งกว่าอุตสาหกรรมอื่น สามารถเติบโตได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเป็นหุ้นกลุ่มที่มักจะสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยทุกครั้งที่ผ่านมาในอดีต นอกจากนี้ในปี 2567 หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ถือเป็นกลุ่มที่ “เติบโตสูง ราคาไม่แพง”

เนื่องจากนักวิเคราะห์จาก FactSet คาดการณ์ว่ากำไรของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์จะเติบโตได้สูงถึง 15.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่ากำไรของบริษัทในดัชนี S&P500 ที่มีแนวโน้มขยายตัว 12.2% YOY

นอกจากนี้หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ยังมีมูลค่า (Valuation) ที่ต่ำกว่าภาพรวมตลาด สะท้อนจากค่าอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นปี 2567 (Forward P/E) ที่อยู่เพียงแค่ 17 เท่า ต่ำกว่าดัชนี S&P500 ที่ซื้อขายกันที่ Forward P/E ที่ 18 เท่า ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนมีต่ำกว่าหุ้นอุตสาหกรรมอื่น ๆ

3.ทองคำ ถือว่ายังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หรือ Safe Heaven เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจหรือภาวะสงคราม ซึ่งในสภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดเดาได้ยาก การกระจายเงินลงทุนบางส่วนไว้ในทองคำ น่าจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดี

นอกจากนี้ ทองคำยังได้รับแรงหนุนจากกระแสการที่ธนาคารกลางทั่วโลกลดการถือครองดอลลาร์และเพิ่มการถือครองทองคำมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความต้องการซื้อ ทั้งจากบรรดาธนาคารกลางและนักลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง