สศช.เตือนดูแลการคลัง รับมือปัจจัยเสี่ยง-ชง 7 ข้อ แก้เศรษฐกิจแผ่ว

เศรษฐกิจไทย “โตแผ่วลง” อย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.5% ต่อปี ชะลอจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.8% ต่อปี ซึ่งผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์กันว่า จะโตได้ 2.2% ต่อปี

ส่งผลให้ล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2566 ลงเหลือโตเพียง 2.5% ต่อปี จากเดิมคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ในกรอบ 2.5-3.0% ต่อปี

ส่งออกหด 3 ไตรมาสฉุดจีดีพี

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 มีแรงส่งสำคัญจากปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 8.1% และการลงทุนรวมขยายตัวได้ 1.5% ซึ่งมาจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 3.1% ส่วนการลงทุนภาครัฐหดตัว 2.6% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว จากการเบิกจ่ายงบฯลงทุนที่ยังมีปัญหา

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวได้ 1.5% มาจากเรื่องการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และถ้านับรวมไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วด้วย ก็จะเป็นการหดตัวมา 4 ไตรมาส แม้ว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาสจะมีสัญญาณการฟื้นตัวก็ตาม”

ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 หากเทียบกับไตรมาส 2 (QOQ) พบว่า ยังขยายตัวได้ 0.8%

9 เดือนเศรษฐกิจไทยโต 1.9%

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ที่ 1.9% โดยประมาณการปีนี้ทั้งปีคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 2.5% จากเดิมคาด 2.5-3.0% ทั้งนี้ มาจากการบริโภคภาคเอกชนที่คาดจะโตดีขึ้นที่ 7% จากเดิมคาด 5% แต่การอุปโภคภาครัฐบาลหดตัวมากขึ้นที่ 4.2% จากเดิม 3.1% ส่วนการลงทุนเอกชนจะขยายตัวได้ 2% ดีกว่าเดิมที่คาดโต 1.5% ด้านมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะหดตัวมากขึ้นเป็น 2% จากเดิมคาดหดตัว 1.8%

“ส่วนในไตรมาส 4 โมเมนตัมในเรื่องการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น และน่าจะทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ และอีกอย่างจะมีเรื่องฐานที่ต่ำในปีที่แล้วด้วย ฉะนั้น การเติบโตทั้งปีที่ 2.5% ก็น่าจะใกล้เคียง”

3 ปัจจัยหลักหนุนปีหน้าโต

ส่วนปี 2567 เราคาดว่าจีดีพีจะโต 2.7-3.7% หรือค่ากลางประมาณ 3.2% โดยการบริโภคภาคเอกชนน่าจะโต 3.2% แต่การลงทุนภาครัฐน่าจะหดตัว 1.8% เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งคาดว่างบฯปี 2567 จะออกได้ประมาณเดือน เม.ย. 2567 ก็จะต้องเร่งเตรียมการเบิกจ่าย พองบฯออกมาแล้วต้องเร่งทันที ด้านการส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8%

“ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ การกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออก รวมถึงการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีของการลงทุนภาคเอกชน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว”

กาง 4 ปัจจัยเสี่ยงปีหน้า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 2567 ได้แก่ 1.แรงขับเคลื่อนด้านการคลัง ที่กว่างบฯปี 2567 จะออกได้ก็ประมาณเดือน เม.ย. ดังนั้นหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเตรียมการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกันการหารายได้ของรัฐบาลต้องพิจารณาปรับโครงสร้างภาษี หรือค่าลดหย่อนต่าง ๆ กันอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ภาครัฐสามารถมีฐานะด้านการคลังดีขึ้น สำหรับรองรับความเสี่ยงในปีหน้า”

2.หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงถึง 90.7% ของจีดีพี ยังเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็ต้องขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ในการเข้ามาดูแล ปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง ทั้งในส่วนธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

3.ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง 4.ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต้องมีช่องว่างทางด้านการคลังที่เพียงพอ เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ชง 7 แนวทางแก้ปมเศรษฐกิจ

“เลขาธิการ สศช.” กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 และปีหน้า 1.ต้องดำเนินนโยบายทางการเงินการคลังอย่างเหมาะสมกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ต้องสร้าง policy space ให้เพียงพอกับการรองรับความเสี่ยงในระยะถัดไป

2.เตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 3.ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยเร่งรัดส่งออกไปยังตลาดที่มีแนวโน้มการขยายตัวดี 4.สร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน

“การลงทุนต้องเร่งรัดให้ผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนมีการลงทุนจริง และการอำนวยความสะดวกใบอนุญาตต่าง ๆ โดยเฉพาะใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ควรจะต้องทำให้ระยะเวลาการอนุญาตรวดเร็วขึ้น และการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง”

5.สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง รวมถึงกระจายตลาดนักท่องเที่ยวให้สมดุลมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน 6.ดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตร ที่อาจจะเจอภัยแล้งในปีหน้า

และ 7.รักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯประจำปี 2567 ให้ได้ที่ 90.4% ของงบฯรายจ่ายทั้งหมด แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 97% และรายจ่ายลงทุน 65%

จีดีพี 3.2% ไม่รวม “แจกเงินดิจิทัล”

ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจปีหน้าที่คาดว่าเศรษฐกิจจะโต 2.7-3.7% หรือค่าเฉลี่ย 3.2% นั้น “ดนุชา” กล่าวว่า ยังไม่ได้คำนวณรวมมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เพราะยังต้องรอคำวินิจฉัยจากกฤษฎีกาก่อน

“เรายังไม่ได้รวมไว้ เพราะต้องมีความชัดเจนในหลายเรื่องก่อน”

ส่วนเศรษฐกิจจะโตได้ถึง 5% หรือไม่นั้น “เลขาธิการ สศช.” กล่าวว่า เข้าใจว่าการเติบโต 5% เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งสำหรับการบริหารเศรษฐกิจของทางรัฐบาล ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจโตไปถึงระดับนั้นได้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากหลายส่วน

โดยเฉพาะด้านการส่งออก และการลงทุน ที่ต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นตัวสนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศในระยะยาว ตลอดจนการท่องเที่ยวที่ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ เพื่อสามารถเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และใช้เวลาอยู่ในไทยนานขึ้น

เศรษฐกิจไทยต้องปรับโครงสร้าง

ส่วนเศรษฐกิจไทยถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น “ดนุชา” กล่าวว่า ถ้าดูตั้งแต่หลังโควิดที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความผันผวนทั้งจากภายในและภายนอกมาโดยตลอด ซึ่งหลังโควิดคลี่คลายแล้ว ก็คิดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่านี้ แต่ก็มาเจอปัญหาเงินเฟ้อ เศรษฐกิจโลกชะลอลงเร็วกว่าที่คาดไว้

“โดยรวมเศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราต้องการทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีกว่านี้ ก็ต้องปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เป็นภาคใหญ่และเกี่ยวพันกับการส่งออก”

ธปท.เผย “สินเชื่อหด-NPL ขยับ”

ขณะที่ “อัจจนา ล่ำซำ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปี 2566 สินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวเล็กน้อย โดยโตติดลบ 0.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มส่งออก และภาครัฐ รวมถึงมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์

“สินเชื่อหดตัวเล็กน้อยจากการชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ และอีกปัจจัยก็คือ การที่ธนาคารพาณิชย์ยังค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ SMEs ใหม่ โดยปล่อยให้ในวงเงินที่ต่ำลงอยู่ที่ประมาณ 3 แสนบาท ส่วนใหญ่จะไปในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีเงินเข้าไป หลัก ๆ คือในธุรกิจกลุ่มโฮลดิ้ง และก่อสร้าง ขณะที่สินเชื่อรายย่อยขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอร์ต”

นอกจากนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) ในไตรมาส 3 ปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.70% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.67% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคุณภาพหนี้ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ด้อยลงค่อนข้างมาก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 5.84% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.08% หรือลดลงราว 5 หมื่นล้านบาท

“ในภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อย แต่ยอดคงค้าง NPL ในไตรมาสนี้ก็ยังอยู่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท และ stage 2 ก็ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา” ผู้อำนวยการอาวุโสแบงก์ชาติกล่าว