เปิด “จุดเสี่ยง” เศรษฐกิจไทย KKP จับตาปีหน้า-ระยะยาวสุดท้าทาย

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

เศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัวมาตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 ดูจะค่อย ๆ “แผ่วลง” จนหลายสถาบันปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ลง คาดว่าจะโตไม่ถึง 3% ต่อปีกันแล้ว ขณะที่มองไปในปี 2567 ก็ดูเหมือนจะยังมี “ความเสี่ยง” อยู่อีกไม่น้อย “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้ฉายภาพแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าไว้บนเวทีงานสัมมนา “Thailand 2024 Beyond Red Ocean” ที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเร็ว ๆ นี้

โลกไม่ถดถอยแต่ชะลอตัว

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า เศรษฐกิจปีหน้าอาจจะยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยสถานการณ์ต่อเนื่องมาจากหลายปีที่ผ่านมา ทั้งสภาวะเงินเฟ้อที่สูง อัตราดอกเบี้ยสูง และภาวะที่เศรษฐกิจดูเหมือนกำลังจะแตะเบรก และเห็นความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์เศรษฐกิจแตกต่างกันออกไปในทั่วโลก หรือเรียกว่า global divergence ที่ฝั่งหนึ่งของโลกเศรษฐกิจโตร้อนแรง ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งค่อนข้างแผ่วและมีปัญหา

อย่างไรก็ดี หากดูจากการประมาณการเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตได้ 2.9% ใกล้เคียงกับปีนี้ เผลอ ๆ จะโตช้ากว่าปีนี้ด้วยซ้ำ รวมถึงอาจจะเห็นเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วโตช้าลงเล็กน้อยเหมือนกัน เดิมทีนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยแน่นอน แต่ GDP สหรัฐไตรมาส 3 ที่เพิ่งออกมาโตไปถึง 4.9% แต่หลายคนก็มองกันว่า ไม่ใช่ตัวเลขที่จะโตยั่งยืน ปีหน้าอาจจะโตลงไปต่ำกว่านี้ใกล้ ๆ 2%

“ส่วนใหญ่มองกันว่า จะเป็น soft landing ก็คือเศรษฐกิจค่อย ๆ ชะลอลงไป แต่ไม่ถึงกับเกิด recession (ภาวะถดถอย) อย่างไรก็ดี ตอนนี้เริ่มมองว่า recession อีก ดังนั้น การประมาณการก็ยังไม่แน่นอน”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐโตมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดไปแล้ว ขณะที่หลาย ๆ ประเทศค่อย ๆ ฟื้นตัว และยังไม่กลับไประดับก่อนเกิดโควิดด้วยซ้ำ ตรงนี้ทำให้เกิด divergence อย่างช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นค่าเงินสหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะแทบจะเป็นประเทศเดียวที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ที่ยังไม่ค่อยฟื้นตัวดี ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย ทำให้ความผันผวนในเรื่องแรงกดดันของประเทศมีภาวะในการฟื้นตัวช้า

“อย่างประเทศไทย อย่างที่เราเห็น การฟื้นตัวยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่พอสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยไป ก็ทำให้เราต้องขึ้นตามเขาไปด้วย ก็ทำให้เกิดความผันผวน มีแรงกดดันต่อประเทศที่ฟื้นตัวช้า”

นอกจากนี้ การที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยไปค่อนข้างมาก วันนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 5.50% ทำให้เราอาจจะเจอปัญหาที่เรียกว่า height for long ก็คือ แม้จะคาดว่าปีหน้าดอกเบี้ยจะลดลง แต่ภาวะดอกเบี้ยอาจจะอยู่ระดับสูงไปอีกสักระยะหนึ่ง

เศรษฐกิจไทยปีหน้ายังเสี่ยง

สำหรับเศรษฐกิจไทยปีหน้า “ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า จะอยู่ภายใต้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมกัน โดยปีหน้า คาดว่าภาคบริการยังค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ ขณะที่ภาคการส่งออก ก็น่าจะกลับมาดีขึ้น แต่อาจต้องระมัดระวังฝั่งผู้บริโภคมากขึ้น เพราะการฟื้นตัวโดยรวมยังคงเปราะบาง ซึ่ง GDP ของไทยยังไม่กลับไปที่ระดับปี 2562 เลย

“แรงส่งของเศรษฐกิจปีหน้า เรายังเชื่อว่า ภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นแรงส่งที่ค่อนข้างสำคัญ จากปีนี้ที่นักท่องเที่ยวน่าจะจบที่ 27-28 ล้านคน ปีหน้าหวังว่าจะเป็นกว่า 30 ล้านคน แต่จะสังเกตว่า แรงส่งจะค่อย ๆ เบาลงไปเรื่อย ๆ คำถามที่จะต้องถามกันเองมาก ๆ คือ ถ้าการท่องเที่ยวกลับไปถึงแถว 30 ล้านคนแล้ว อะไรจะเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะถ้ามองย้อนกลับไป 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าเอาท่องเที่ยวออก เศรษฐกิจไทยโตช้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ถ้าเอาท่องเที่ยวออก เมืองไทยแทบจะไม่ฟื้นเลย”

2.การส่งออกที่ปีนี้ติดลบทั้งปี แต่ถ้าดูไส้ใน ต้องบอกว่า ส่งออกทำได้ดีมาก และเป็นการฟื้นตัวของหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่มีการกระจายไปได้ค่อนข้างดี แต่บังเอิญว่าฐานปีก่อนค่อนข้างสูง

“ปีที่ผ่านมา เราส่งออกได้เท่ากับปีปกติ แต่ว่า การส่งออกติดลบ ความท้าทายที่สำคัญ ก็คือปีหน้าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราอาจจะเห็นตลาดใหญ่ ๆ อย่างเช่น สหรัฐที่อาจจะโตช้าลง เรายังคาดว่าการส่งออกน่าจะกลับมาเป็นบวกในแง่การเจริญเติบโต แต่ว่าก็ยังมีความท้าทายอยู่ค่อนข้างเยอะ”

สินเชื่อไม่โต-สัญญาณ ศก.แผ่ว

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า จุดที่น่าเป็นห่วงก็คือ การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนที่ส่งสัญญาณการชะลอตัวค่อนข้างชัดเจนในช่วงหลัง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ตอนนี้ประมาณกว่า 0.6% สะท้อนว่า ไม่มีแรงส่ง หรือแรงกดดันให้เงินเฟ้อปรับขึ้น เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีเงินเฟ้อเฉลี่ย 3-4%

“สะท้อนว่าฝั่งอุปสงค์ หรือดีมานด์ของประเทศแผ่วจริง ๆ ถามว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยต้องการการกระตุ้นไหม ผมคิดว่ามีความจำเป็น แต่รูปแบบไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่เห็น ก็คือมีสัญญาณเตือนภัยจากตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อของภาคธนาคาร ซึ่งพบว่า ช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมาติดลบ โดยหากดูทั้งระบบ ยอดสินเชื่อตอนนี้โตประมาณ 0.5%

“คำถามก็คือ เศรษฐกิจจะโตอย่างไร ถ้าระดับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในวันนี้ชะลอลดลงไปเรื่อย ๆ อาจจะมาจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างไม่เต็มที่ ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือน และเอสเอ็มอียังมีปัญหา ธนาคารจึงค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยกู้”

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า คำถามก็คือ ในปีหน้าที่รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ออกมา จะช่วยได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้มองว่ามี 2 ประเด็น หนึ่ง คือ ยังไม่แน่ใจว่านโยบายจะออกมาอย่างไร ออกมาได้หรือไม่ ยังเป็นความไม่แน่นอน

“หลายคนตั้งคำถามในแง่ของการวางแผนการใช้เงิน วางแผนการลงทุนในอนาคต รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายของรัฐบาล ว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุน หรือจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ซึ่งนี่ก็ยังเป็นความไม่แน่นอนอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจจะเป็น key ที่สำคัญของปีหน้า”

ราคาพลังงาน “จุดเสี่ยง” สำคัญ

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน ที่ช่วงหลังนอกจากไทยต้องนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงขึ้นแล้ว ยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น แม้เราจะส่งออกได้มากขึ้น แต่กลายเป็นว่า ต้องจ่ายค่าราคาพลังงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นประเด็นเชิงโครงสร้าง เรื่องก๊าซในอ่าวไทยที่มีปัญหา รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของไทย

“ตรงนี้จะเป็นอีกจุดเสี่ยงที่สำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการสู้รบ ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ตรงนี้จะเป็นจุดช็อกจุดหนึ่ง ที่อาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้”

ลุ้นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ๆ

ส่วนในแง่ของภาคการเงินจะสังเกตว่า วันนี้ดอกเบี้ยสหรัฐสูงกว่าดอกเบี้ยไทยพอสมควร แปลว่าหากต่างชาติจะมาลงทุนในไทย หรือคนไทยจะไปลงทุนที่ต่างประเทศ ก็ต้องคาดหวังให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

“สิ่งที่ตลาดคาดหวัง ก็คือ การเกินดุลของบัญชีเงินสะพัดของไทยต้องกลับมาเกินดุลเยอะ ๆ โดยก่อนเกิดโควิด เราเคยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 5-6% ของ GDP ซึ่งปีหน้าประเด็นที่สำคัญ ประเด็นหนึ่งก็คือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ว่าเราจะส่งออกสินค้าและบริการหรือการท่องเที่ยว เพียงพอที่จะชดเชยการนำเข้าพลังงานหรือไม่

หากมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ท่องเที่ยวชะลอตัวลง เราส่งออกได้ช้าลง หรือราคาน้ำมันขึ้น แล้วทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกินดุลอย่างที่ตลาดคาด ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนเยอะมาก แต่ถ้าปีหน้าไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะและทำให้ตลาดเชื่อมั่นได้ จะเป็นตัวช่วยเสถียรภาพของค่าเงินบาทได้ค่อนข้างดี”

ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องเร่งแก้

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวอีกว่า นอกจากประเด็นระยะสั้นแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ใน cross road หรือทางแพร่งที่สำคัญ จากในอดีตก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยเคยโตถึง 7% ต่อปี จากนั้นก็เปลี่ยนมาเน้นส่งออก เศรษฐกิจโตเหลือประมาณ 5% และหลังเจอวิกฤตการเงินโลก เศรษฐกิจไทยก็โตเหลือ 3% ก็จะเห็นเทรนด์เศรษฐกิจไทย “สาละวันเตี้ยลง” และตอนนี้หลังโควิดมาเศรษฐกิจไทยโตเหลือแค่ 2.4% เท่านั้น

“ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเจอความท้าทายขนาดหนัก แล้วถ้าเราไม่ทำอะไร เทรนด์การเติบโตอาจจะลงมาต่ำกว่าเดิมด้วย ฉะนั้นกลับไปที่คำถามเดิมว่า ถ้าท่องเที่ยวกลับไปที่เดิมแล้ว เศรษฐกิจไทยจะเอาอะไรมาโต อะไรจะเป็น engine of growth ต่อไป โครงสร้างของเศรษฐกิจจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยถูกยกระดับขึ้นไปให้โตได้ดีกว่านี้”

ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเจอแรงกดดันอยู่ 4 ประเด็น คือ 1.โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) 2.ความสามารถในการแข่งขัน ทำอย่างไรจะดึงดูดการลงทุนได้ 3.หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้เศรษฐกิจโตช้า และ 4.กระแส green ที่หลายคนให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยจะวางตำแหน่งอยู่ตรงไหน

“ผมว่าประเด็นเชิงโครงสร้างในระยะยาวมีความสำคัญมากกว่าระยะสั้น และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันตั้งคำถาม ช่วยกันคิดว่า เราจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร นี่คือโจทย์อันดับหนึ่งของประเทศไทย” กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP กล่าว