AI First เทคโนโลยีพลิกโลก ถอดรหัส KBTG ทุ่มสุดตัว All in AI

เรืองโรจน์ พูนผล
เรืองโรจน์ พูนผล

“ประชาชาติธุรกิจ” จัดงานสัมมนา “THAILAND 2024 BEYOND RED OCEAN” เส้นทางใหม่ เป้าหมายใหม่ ที่มั่นคง โดย “เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกลุ่ม KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) เป็นหนึ่งในวิทยากรที่มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “AI พลิกโลก” หลังจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในหลายแง่มุม ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเตรียมองค์กรให้พร้อม ไม่เว้นแม้แต่องค์กรเทคโนโลยีอย่าง KBTG ในเครือธนาคารกสิกรไทยที่ประกาศ “All in” ในเทคโนโลยี “AI” เต็มกำลัง

AI เปลี่ยนโลก กระทบแรงงาน

“วันนี้เราไม่มีทางที่จะเลี่ยงเรื่องเอไอได้ การ์ตเนอร์บอกว่าตอนนี้ generative AI อยู่บนยอดสุดของความนิยม เรียกว่า hive circle แล้ว หมายความว่า ปีหน้า AI startup 99% จะตายปีหน้าแน่นอน ใครที่ลงทุนไปแล้วตอนนี้ถอยทันให้รีบถอย สิ่งที่ผมเชื่อ คือวิวัฒนาการล่าสุดที่เห็นตอนนี้ คือ generative AI จะทำให้คนเก่งขึ้น และมีความสามารถมากขึ้น เราอยู่ในยุคที่มนุษย์ทำให้เอไอดีขึ้น และเอไอก็จะกลับมาช่วยให้มนุษย์ดีขึ้น เป็นยุคที่เรากำลังจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าซูเปอร์ฮิวแมนขึ้นมาภายในชั่วชีวิตเรา ถ้าอีก 5 ปีข้างหน้าคุณยังไม่ตายจะได้เห็นแน่นอน ตอนนี้ทุกคนสามารถทำงานได้ เพียงแค่ป้อนข้อความ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ได้ เป็นนักดนตรีได้ แม้กระทั่งงานคราฟต์ที่สมัยก่อนต้องใช้ฝีมือและทักษะ”

บริษัทวิจัยการ์ตเนอร์ยังบอกอีกว่า ภายในปี 2024 กว่า 95% ของแรงงาน จะใช้เอไอในการทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และคนเราจะเก่งขึ้น ทำงานเร็วขึ้น 25-40% แม้กระทั่งบริษัทเทคโนโลยีอย่าง KBTG ก็มี generative AI เป็นโปรดักทิวิตี้พาร์ตเนอร์ช่วยโปรแกรมเมอร์ ทำให้ 2,500 คน ในบริษัทเพิ่มผลิตภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์เร็วขึ้น 2-10 เท่าตัว

“มีการจับคู่เอไอกับโปรแกรมเมอร์ หรือ SaleforceGPT ใช้เอไอช่วยบิสซิเนสยูสเซอร์ในการสร้างเวิร์กโฟลว์ ต่อไปเมื่อทุกอย่างเชื่อมกัน การพัฒนาซอฟต์แวร์ ออกแบบ UX, UI ให้เวิร์กโฟลว์ดีขึ้น จะช่วยให้เกิดการทำงานอัตโนมัติทั้งหมดเร็วขึ้นแบบมหาศาล”

“เรืองโรจน์” ย้ำว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว จากยุค mobile first เป็น AI first ทุกองค์กรต้องมียุทธศาสตร์ด้านเอไอ

“ก่อนหน้านี้เราอยู่ในยุค mobile first ที่ทุกอย่างต้องโหลด application ลงบนมือถือไว้ก่อน แต่ตอนนี้เปลี่ยนไป AI สามารถเป็นสิ่งขับเคลื่อนงานได้เฉพาะทาง ทดแทน App อย่างเช่น AI agent ที่ในอนาคตจะสามารถดาวน์โหลดมาทำงานเฉพาะทางบางแผนกขององค์กรได้ ต่อไปจะมีการ customized AI ให้เฉพาะงานขององค์กรมากยิ่งขึ้น เทคสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นในยุคต่อไปอาจมีพนักงานแค่ 10 คนเท่านั้น”

ว่ากันว่าในอนาคตจะมีงานประมาณ 300 ล้านตำแหน่งโดนแทนที่ด้วย “เอไอ” และ “คน” ที่ใช้ “เอไอ” เป็น ถามว่าตำแหน่งงานที่จะไม่โดนแทนที่ด้วย “เอไอ” มากที่สุดคืออะไร คืออาชีพทำความสะอาด

“ผมบอกเสมอตั้งแต่ปีที่แล้วว่า คนที่ใช้เอไอเป็นจะมาแทนคนที่ใช้เอไอไม่เป็นแน่ เพราะโปรดักทิวิตี้คนเหล่านั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า รายได้จะเพิ่มมหาศาล แต่ความน่ากลัวคือคนตรงกลางจะหายไป คนยอดบนจะยิ่งเก่งขึ้น 10 เท่า ทำงานแทนคนได้มากขึ้นหลาย ๆ คน ความน่ากลัวอีกเรื่อง คือ เด็กจบใหม่ที่ไม่มีสกิลทำงานเลย แต่งานระดับ entry เอไอทำได้หมด อย่างดาต้าอนาลิสต์ที่ใช้ทักษะการจดจำปุ่มลัดทำงาน Excel เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล จากนี้แทบจะไม่ต้องใช้ หรือต้องจดจำแล้ว ถ้าเป็นเด็กจบใหม่ นอกจากจะทำชอร์ตคัต Excel ได้ชำนาญ และใช้เอไอได้ จะมาแทนรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ก่อนได้อย่างรวดเร็ว และทำแทนได้หลายคนด้วย จึงเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตที่ยิ่งใหญ่”

“เอไอ” เฉพาะทาง-ต้องรู้เท่าทัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ในระดับปัจเจกบุคคล แต่เกิดขึ้นได้ในระดับองค์กร บริษัทไหนที่ใช้ “เอไอเป็น” จะมาแทนที่บริษัทที่ใช้ไม่เป็น ประเทศไหนที่ All in เรื่อง “เอไอ” ก็จะเข้ามาดิสรัปต์ประเทศที่ใช้ไม่เป็น

“เรืองโรจน์” ระบุว่า เป็นวิกฤตระดับชาติด้วย ในฝั่งของธนาคารก็จะมีการนำมาใช้ เพื่อเร่งผลิตภาพของพนักงาน 68% รวมถึงยูสเคสต่าง ๆ เรียกว่า customized AI สำหรับพนักงาน เพื่อใช้เฉพาะงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำมาช่วยด้านคอลเซ็นเตอร์, การสกรีนคอล หรือระบบการจัดการ

บริษัทที่เก่ง ๆ จะใช้ AI-powered knowledge management systems ลดเวลาในค้นคว้า หรือแม้แต่การคัดกรองมะเร็งเต้านมก็สามารถ detect เซลล์มะเร็งก่อนที่จะเกิดได้ด้วย เรียกว่าเข้าไปอยู่ในโปรดักต์ต่าง ๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำ e-Ordering หรือใช้ gen AI ในงานมาร์เก็ตติ้งที่บริษัทอายุร้อยปีอย่าง Coca-Cola ก็ใช้

“ยุคต่อไปอยู่ที่เราจะเอาเอไอไปเพื่ออะไร เป็น AI for education, for marketing, for agriculture หรือ for supply chain management ได้หมด อยู่ที่ว่าจะออกแบบอย่างไร ซึ่งมีแนวโน้มที่เอไอจะทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ได้

ผมอยู่ในโลกเทคโนโลยีมา 16 ปี ลงทุนกับเทคโนโลยีมาทั้งหมด 8 ปี ไม่มีช่วงเวลาไหนที่กลัว ทุกวันตื่นเช้า หรือก่อนนอนต้องมานั่งเล่นเครื่องมือเอไอวันละตัวเต็มไปหมด บางตัวโผล่ขึ้นมาแล้วก็ตาย บางตัวก็ไม่จริง ประเด็นคือ ถ้าคุณไม่เรียนรู้และเตรียมตัวที่จะอยู่กับมัน คุณจะไม่มีทักษะเท่าทันเอไอ AI literacy ยุคนี้น่ากลัวมาก”

“เรืองโรจน์” กล่าวอีกว่า บริษัทกำลังทดลองใช้ “เอไอ” หลายตัวมาช่วยขับเคลื่อนงานบางส่วน เรียกว่าเป็น AI agent จากที่ทุกคนคงทราบแล้วว่า สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ “โมบายเฟิร์สต์” เป็นโลกของการโหลดแอปพลิเคชั่น แต่ในอนาคตจะเป็นการโหลด AI agent มาใช้ และ AI agent จะไปร่วมงานกับ agent คนอื่น ๆ นี่คือความมหัศจรรย์ และความ disruptive

นอกจาก AI จะเพิ่มผลิตภาพแล้ว อัตราเร่งยังก่อให้เกิด new S-curve ใหม่ ๆ ทำให้เติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งโอกาสเหล่านี้เกิดจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์และแมชีนเลิร์นนิ่งในงานเฉพาะทางที่มีขนาดใหญ่ มีความซับซ้อนสูง เช่น การบริหารจัดการท่าเรือ หากใช้ AI แก้ปัญหาแบบ industrial specific longtail problem ได้จะน่ากลัวอย่างยิ่ง

“ข้อมูลและจริยธรรม”

ไม่ใช่ว่า AI จะแก้ปัญหาและทดแทนได้ทุกอย่าง ในอีกมุมผู้บริหารมอง AI แบบ “แฟนตาซี” แต่จริง ๆ มีพื้นฐานบน “ข้อมูล” ที่ถูกต้องแม่นยำ มีการทำแมชีนเลิร์นนิ่งเฉพาะทาง งานบางอย่างใช้แค่การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างง่ายก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ AI ที่ซับซ้อน ที่สำคัญต้องมองให้ออกว่าจะใช้อย่างไร

“AI โตตามลำพังไม่ได้ เพราะรากฐานของการพัฒนา AI ต้องอาศัยการใช้ข้อมูล ถ้า data foundation หรือคลังข้อมูลไม่แข็งแกร่ง ก็จะไม่สามารถดึงประสิทธิภาพของ AI ได้เต็มกำลัง มีสิ่งที่ผมเรียกว่า M.A.D. หรือ machine learning, AI และ data/data analytics เป็นพื้นฐานในการต่อยอดทางธุรกิจ หรือสร้าง S-curve ใหม่”

โจทย์สำคัญคือต้องเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรม และพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน อีกส่วนคือเรื่อง “จริยธรรม” และการควบคุม รวมถึงเรื่อง AI literacy หรือการรู้เท่าทัน AI ก็สำคัญ และเป็นวาระของโลกเหมือนกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ต้องมีการกำหนดกรอบจริยธรรมของ AI ที่ทั่วโลกต้องทำร่วมกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ต้องมาตรวจสอบดูแล

3 หมุดหมายองค์กรยุคใหม่

“เรืองโรจน์” กล่าวต่อว่า จากการที่ได้มีโอกาสพูดคุยและศึกษาร่วมกับบริษัทเทคโนโลยี พบว่าภายใน 18-29 เดือนข้างหน้า องค์กรจะต้องมียุทธศาสตร์ AI ใน 3 หมุดหมาย

1.การทำให้เกิดยูสเคสในการใช้ AI จะต้องกำหนด KPI ให้ชัด อย่างน้อยต้องมีการพิสูจน์ความคิด และแนวทางในการใช้งาน หรือ prove of concept

2.พนักงานต้องได้รับการพัฒนาทักษะให้เท่าทัน AI หรือ AI literacy 100% ซึ่ง KBTG ทำแล้ว

และ 3.การ reskill และพัฒนา AI literacy สำหรับผู้บริหารระดับสูง 100% อย่างน้อยที่สุดวันนี้ต้องเข้าไปหัดใช้ ChatGPT เพื่อให้รู้ว่าจะสั่งงานให้ได้ตามความต้องการได้อย่างไร

“สิ่งที่ผมกลัวที่สุดในเรื่องเอไอ คือประเทศไทย ถ้าไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในยุคนี้ได้ จะเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ๆ แม้แต่ KBTG ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยียังกลัว เราจึง All in โดยทำกันมาตั้งแต่ 2019 พัฒนาโปรดักต์ภายในจากการทำรีเสิร์ช ไม่ว่าจะเป็นที่ทำวิจัยร่วมกับเอ็มไอทีมีเดียแลปส์ และกำลังทำเรื่องการศึกษา ผ่าน KBTG Kampus เราเชื่อว่าการรีสกิลคนภายในอย่างเดียวไม่พอ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทย ให้นักศึกษาเรียนแค่ 2 ปี อีก 2 ปีมาทำงานที่ KBTG”

รวมไปถึงการตั้งกองทุน KXVC ในวงเงิน 3,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในบริษัท AI และ deep tech ทั่วโลก เพื่อเป็นประตูในการดึงเอาความสามารถจากทั่วโลกมาช่วยพัฒนา KBTG

“ที่ต้องทำทั้งหมดนี้ เพราะต้อง All in ทุกคนต้อง All in ใน AI เพราะ AI เป็นเทคโนโลยีที่ disruptive ที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเรา”

ประเทศไทยยังไม่ช้าเกิน

ความเสี่ยงและความท้าทายที่สำคัญมาก และเกิดขึ้นทั่วโลก คือจะต้องกำหนดกรอบการดูแลร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการบิดเบือนความจริง เช่น ข่าวปลอม (fake news) หรือการสวมรอยเป็นบุคคลต่าง ๆ และสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงความแม่นยำในข้อมูลที่ถูกต้อง และการแทนที่มนุษย์

“ทุกประเทศมีเฟรมเวิร์กเรื่องเอไอ แต่ต้องไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง และต้องให้นักวิทยาศาสตร์เป็นผู้กำกับดูแล ถ้าให้นักการเมืองดูแลเรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเข้าไปช่วยเรื่องไกด์ไลน์ในการดูแล ช่วยเรื่องการปฏิรูปการศึกษา นำเอไอไปได้ เรา All in ในทุกส่วน การกำกับก็มีหลายหน่วยงาน เเต่อยากยกตัวอย่างสิงคโปร์มีหน่วยงานชื่อ เอไอสิงคโปร์ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เพื่อร่วมกันทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด”

“เรืองโรจน์” ทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยยังไม่ตกขบวน แต่ต้อง All in AI เพราะจะเป็นเทคโนโลยีที่ disruptive ที่สุดในชั่วชีวิตของคนเราที่จะเปลี่ยนอนาคตได้ โดยการสร้าง AI literacy ให้ตนเอง ให้ครอบครัว ให้บริษัท และประเทศ ช่วยกันคิด และสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อเป็นผู้ชนะในยุค “เอไอ”