ธปท. เดดไลน์ 6 แบงก์ ส่งแผนปฏิบัติการ หนุนลูกค้าปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว

กองทุน สิ่งแวดล้อม

ธปท.สั่ง 6 แบงก์ใหญ่ส่งแผนและแนวทางการออกผลิตภัณฑ์การเงิน หนุนเรียลเซ็กเตอร์ปรับตัวสู่การทำธุรกิจยั่งยืน ขีดเส้นส่งแผนภายในไตรมาสแรกปี 2567 ขณะที่ 3 แบงก์ใหญ่ “กรุงไทย-กรุงศรีฯ-ทีทีบี” รับลูกเร่งกำหนดอุตสาหกรรมนำร่อง ชี้แบงก์ชาติอาจต้องร่วมอุดหนุนต้นทุนการเปลี่ยนผ่าน

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจาก ธปท.ออกมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ไป ล่าสุดได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (D-SIBs) 6 แห่ง เพื่อผลักดันให้ภาคการเงินเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีการปรับตัวของภาคธุรกิจเกิดขึ้นจริง โดยกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและแนวทางออกโปรดักต์ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567

“เราให้แบงก์จัดทำแผนและแนวทางการออกโปรดักต์ที่สามารถตอบโจทย์ให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนได้จริง โดย ธปท.ต้องการเริ่มต้นให้แบงก์คัดเลือกเซ็กเตอร์ หรือพอร์ตธุรกิจที่คิดว่าต้องการปรับเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจสีเขียว อาจจะไม่ใช่แค่ 2 กลุ่มธุรกิจพลังงาน-ขนส่ง แต่อาจจะเป็นเซ็กเตอร์ที่มีความพร้อมที่ต้องการปรับเปลี่ยน และผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกมา”

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย, ไทยพาณิชย์, กรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี)

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธปท.ให้แบงก์ต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีความสำคัญเชิงระบบส่งแผนคัดเลือกอุตสาหกรรมที่มีวิวัฒนาการในเชิงบวกเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ซึ่ง KTB ได้ส่งแผนดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ดี ในปี 2567 จะต้องเสนอแผนให้ ธปท.อีกครั้ง ในส่วนของการเลือกอุตสาหกรรม ว่าจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เมื่อใด และจะสามารถลดได้ในปริมาณเท่าไร

“แผนจะต้องบอกว่าเป้าหมายจะอยู่ในปีไหน ภายใต้แผนว่าจะมีการลงทุนแบบไหน ด้วยตัวชี้วัดอะไรบ้าง โดยเรื่องดังกล่าวจะเป็นการขับเคลื่อนทั้งระบบ ส่วนจะเป็นเซ็กเตอร์ไหนก่อน จะต้องรอ ธปท.ประกาศ”

ด้านนายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธปท.ต้องการเห็นแผนการดำเนินการ การช่วยเหลือลูกค้าเปลี่ยนผ่าน (transition) จากสีแดง สีเหลือง กระทั่งไปสู่สีเขียว โดยต้องการเห็นแผนปฏิบัติการใน 2 ส่วน คือ 1.ให้แบงก์มาดูพอร์ตสินเชื่อและกลุ่มธุรกิจที่คิดว่าจะเข้าไปช่วยธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรุงศรีฯกำลังพิจารณาเซ็กเตอร์ที่จะเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า เช่น พลังงาน หรืออื่น ๆ

และ 2.เครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียว อาจจะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น กรีนบอนด์ สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน (sustainability-linked loan) หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

เนื่องจากปัจจุบันลูกค้า 1 รายอาจจะมีหลายธุรกิจ และนำวงเงินไปใช้ในหลายบริษัทและหลายธุรกรรม เช่น ไปลงทุนในโซลาร์ หรือถ่านหิน ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้แบงก์จะต้องลงลึกและแยกรายธุรกรรมให้ได้ รวมถึงจะต้องทำข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือ one data ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์

“ธปท.พยายามเข้ามาคุยกับแบงก์ และช่วยเหลือว่ามีปัญหา อุปสรรคอะไรบ้าง ในการช่วยเหลือลูกค้าเปลี่ยนผ่าน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านย่อมมี transition cost ตรงนี้ใครจะเป็นคนรับภาระ ซึ่งแบงก์ก็พยายามสนับสนุนเต็มที่ และคาดว่า ธปท.ก็น่าจะมีอะไรมาช่วย อาจจะเป็นการ subsidy ชั่วคราว รวมถึง sponser ด้วย”

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ในเบื้องต้นเห็นว่ามีอุตสาหกรรมที่อยู่ในข่าย 5 อุตสาหกรรม โดยธนาคารอยู่ในระหว่างคัดเลือก เพื่อที่จะนำลูกค้าสู่การเปลี่ยนผ่าน โดยธนาคารมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ลูกค้าในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ ESG

ทั้งนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ โดยมีการกำหนด “Green and Blue Definition” ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อเป็นแนวทางในการปล่อยสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้า ซึ่งในปี 2565 ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้าไปแล้วมากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าจะปล่อยอีก 9,000 ล้านบาทในปี 2566 รวมถึงเป็นธนาคารแรกที่ออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางทะเล (Green and Blue Bonds) โดยในปี 2565 ออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมราว 100 ล้านดอลลาร์ และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล อีก 50 ล้านดอลลาร์

“ทีทีบีตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของธนาคารในการเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจไปสู่ความเติบโตยั่งยืน โดยส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อสีเขียว โดยในไตรมาสที่ 3/66 ปล่อยวงเงินสินเชื่อสีเขียว 13,514 ล้านบาท มาจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรถ EV หรือการให้ความรู้ผ่านการอบรมต่าง ๆ เป็นต้น”