ดอลลาร์ปรับตัวผันผวน ตลาดจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร

ดอลลาร์

ดอลลาร์ปรับตัวผันผวน ตลาดจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/12) ที่ระดับ 35.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/12) ที่ระดับ 35.11/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนที่ต่ำกว่าคาด

โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 103,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 128,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 106,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มคลายความร้อนแรง หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐเปิดเผยว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 617,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.733 ล้านตำแหน่งในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 9.300 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในวันนี้ (7/12) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์ (8/12) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 150,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.9% ล่าสุด นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือน มี.ค. 2567

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวผันผวนในระหว่างวัน หลังกระทรวงพาณิชย์เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน พ.ย.ปรับตัวลดลงมากกว่าคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลง 0.44% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 0.30% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงานในเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้น 0.58% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.60%

ทั้งนี้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือน พ.ย. ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยมาจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ นอกจากนี้แล้ว การเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวผันผวนในช่วงนี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 315.18-35.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/12) ที่ระดับ 1.0765/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/12) ที่ระดับ 1.0776/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังการเปิดเผยข้อมูลคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลงเกินคาด 3.7% เมื่อเทียบรายเดือนในเดือน ต.ค. ได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า

ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 85% ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 7 มี.ค. 2024 และคาดว่า ECB อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันเกือบ 1.50% ก่อนสิ้นปี 2024 ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0753-1.0783 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0774/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/12) ที่ระดับ 147.04/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/12) ที่ระดับ 147.16/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในปีหน้า หลังอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่บีโอเจตั้งไว้ที่ 2% มาเป็นเวลานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.04-147.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (7/12), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนตุลาคมของสหรัฐ (7/12), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร (8/12), อัตราการว่างงาน (8/12) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้น (8/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.75/-9.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.5/-8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ