วิกฤตหรือไม่วิกฤต คำตอบผู้ว่าการ ธปท.

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แน่นอนคำถามสำคัญที่ต้องถามคือ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร แบบนี้เรียกว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต

เรื่องนี้ผู้ว่าการ ธปท.บอกว่า “ผมขอตอบแบบนี้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่เราเห็นค่อนข้างชัดว่า 1.เป็นการฟื้นตัว 2.แต่การฟื้นตัวช้า และ 3.แต่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ตัวเลขหลายตัวกลับมาในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่ไม่ใช่ทุกตัว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้”

โดยตอนนี้ระดับของจีดีพีเทียบกับช่วงก่อนโควิดก็สูงกว่าที่เคยเป็นอยู่ สะท้อนของคำว่า “ฟื้น” แต่นั่นก็แค่ตัวเลขจีดีพี

ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันว่า เรื่องของการฟื้นตัวไม่ได้ดูแค่ตัวเลขจีดีพี ธปท.ดูในหลายมิติ ในฝั่งอุปสงค์ ตัวสำคัญของจีดีพีไทยที่มีน้ำหนักเยอะ ก็คือเรื่องการบริโภคและส่งออก ทั้ง 2 ตัวนี้กลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด

ขณะที่ในฝั่งอุปทาน ภาคบริการก็กลับมาฟื้นตัวกว่าก่อนโควิด แต่อาจมี “ภาคการผลิต” และ “ภาคท่องเที่ยว” ที่ยังไม่ได้กลับมาระดับก่อนโควิด

ดร.เศรษฐพุฒิระบุว่า ปัจจัยจาก 2 ตัวนี้ ทำให้คนมองเศรษฐกิจเหมือน “คนตาบอดคลำช้าง”

คือคนที่จับตรงนี้ก็ว่า “ดี” ส่วนคนจับตรงโน้นก็ “ไม่ใช่” ทำให้สะท้อนเศรษฐกิจออกมาคนละมุมที่แตกต่าง

“เราไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องจีดีพี หรือการผลิตอะไร เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่เราแคร์ คือเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน”

ตัวเลขการว่างงานตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 1% คนว่างงานไม่เยอะ

แต่ตัวที่สำคัญกว่า “คนเสมือนว่างงาน” คือคนมีงานทำ แต่มีงานน้อยกว่าที่ต้องการทำ ชั่วโมงการทำงานน้อย ภาพนี้สะท้อนว่าการฟื้นตัวไม่ได้เท่ากัน

โดยก่อนโควิดตัวเลขเสมือนว่างงานอยู่ที่กว่า 2 ล้านคน ช่วงโควิดขึ้นไปถึง 6 ล้านคน และตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคนก็คือดีขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับมาสู่ระดับเดิม

จะเห็นว่าคนเสมือนว่างงานยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิดประมาณ 1 ล้านคน

สำหรับ “มิติรายได้” ผู้ว่าการแบงก์ชาติยืนยันว่า รายได้คนส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด มีแค่หมวดเดียวที่ต่ำกว่า คือคนที่ทำงานเกี่ยวกับท่องเที่ยว

และตอกย้ำว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเป็นการ “ฟื้นตัว” แต่การฟื้น “ช้า” โดนโควิดหนักกว่าคนอื่น เพราะว่าไทยเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาเรื่องท่องเที่ยวสูง

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงรออยู่ปีหน้า ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ทั้งเรื่องปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเศรษฐกิจจีน ด้วยปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้แบงก์ชาติต้องใส่ใจเรื่องเสถียรภาพ ต้องเก็บกระสุนไว้ยามที่จำเป็น

อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า แม้คนส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่คนส่วนมากก็ยัง “ไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี” ซึ่งมาจาก 2 เหตุผล อย่างแรกคือ บางหมวด บางเซ็กเตอร์ยังไม่ฟื้น ชัดเจนที่สุดก็คือภาคท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการผลิต โดยเฉพาะที่อิงกับการส่งออก ยังเจอปัญหาอุปสงค์จากต่างประเทศ

แต่อีกปัจจัยสำคัญคือว่า ปัญหาที่คนไทยเจอเป็นปัญหาที่สะสมจากช่วงโควิดที่ทำให้ “ความมั่งคั่ง” ของคนหายไป เงินออมหายไป ขณะที่ภาระหนี้เพิ่มขึ้น และค่าครองชีพก็สูงขึ้น

“กรรมเก่าที่เราสะสมมาเยอะและหนัก ความมั่งคั่งที่สะสมไว้หายไป แถมมีหนี้เข้ามา ทำให้ความรู้สึกของคนไทยจำนวนมากยังมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

อย่างที่ท่านผู้ว่าการกล่าวปัญหาเศรษฐกิจไทยเหมือน “ตาบอดคลำช้าง” ขึ้นอยู่กับว่าจะคลำตรงไหน เพื่อที่จะหยิบยกมาเป็นประเด็น แต่ตอนตัดสินใจต้องดูภาพรวม

วิกฤตหรือไม่วิกฤต ท่านผู้ว่าฯไม่ได้ตอบ แต่ที่แน่ ๆ คือเศรษฐกิจไทยกำลัง “ฟื้นตัว” แต่ “ช้า”

โดยปัญหาสำคัญคือ “การลงทุน” หดหายไป หรือยังเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิม ๆ ทำให้เศรษฐกิจไทยติดกับดักโตต่ำ

นี่คือโจทย์ท้าทายของรัฐบาลในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย