ตลาดจับตาการประชุม FOMC สหรัฐ

ภาพ : pixabay

สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/12) ที่ระดับ 35.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/12) ที่ระดับ 35.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยสำนักสถิติแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ธ.ค. ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 0.3% เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน พ.ย.ที่ระดับ 0.2% ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 0.1% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน พ.ย.ที่ระดับ 0.0% และเมื่อเทียบรายปี ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.1% เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และปรับตัวลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 3.2% ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์

ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.22% แตะที่ระดับ 103.8637 ขณะที่นักลงทุนจับตาจัดการประชุมกำหนดนโยบายเงิน (FOMC) ในวันนี้

โดยนักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 5.25-5.50% รวมทั้งจับตาการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (dot plot) และถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2567

สำหรับปัจจัยในประเทศ นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว เพียงแต่แรงขับเคลื่อนอาจยังกลับมาได้ไม่ครบ

โดยเห็นได้ว่าในปีนี้การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงส่งที่สำคัญจากการใช้จ่ายหมวดบริการ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้กลับมาเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ตรงข้ามกับนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นและกลับมาอยู่ในระดับก่อนโควิดแล้ว อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก พร้อมกันนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น

โดยในปี 2567 การส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ และช่วยเป็นแรงเสริมภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2567 ธปท.ประเมินว่า การส่งออกจะขยายตัวได้ 4.3% และ 3.3% ในปี 2568 อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยยังมีความเสี่ยงจากที่อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่คาด จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 34.5 ล้านคน ส่วนในปี 2568 อยู่ที่ 39 ล้านคน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนอาจจะช้ากว่าที่คาดไว้ โดยมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติได้ในปี 2568 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Non China โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.67-35.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/12) ที่ระดับ 1.0792/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/12) ที่ระดับ 1.0803/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจจากสถาบัน ZEW ยูโรโซน ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 23 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน พ.ย.ที่ระดับ 13.8

และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีจากสถาบัน ZEW ยูโรโซน ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 12.8 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน พ.ย.ที่ระดับ 9.8 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0779-1.0797 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0788/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/12) ที่ระดับ 145.47/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/12) ที่ระดับ 145.36/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดย Tankan ได้รายงานดัชนีภาคการผลิตขนาดใหญ่ (Manufacturing Index)

ซึ่งจัดอันดับระดับของภาวะทางธุรกิจทั่วไปในภาคการผลิต ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 12 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน ต.ค.ที่ระดับ 9 และดัชนีนอกภาคการผลิตขนาดใหญ่ (Manufacturing Index) ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 30 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน ต.ค.ที่ระดับ 27 ซึ่งระดับดัชนีมีค่าที่เกินค่าศูนย์ชี้แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจกำลังปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมนโยบายของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า วันที่ 18-19 ธ.ค. และเงินเยนมีความผันผวนจากการเก็งกำไรที่ธนาคารกลางกำลังเข้าใกล้การยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่้อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.25-145.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) (12-13/12), ธนาคารกลางอังกฤษ (14/12) และธนาคารกลางยุโรป (14/12), ดัชนียอดค้าปลีกประจำเดือน พ.ย.ของสหรัฐ (14/12), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (14/12), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน พ.ย.ของจีน (15/12), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซนและสหรัฐ (15/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.2/-10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.4/-6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ