คลังชง ครม.แฮร์คัตหนี้ NPL ลูกหนี้ 2 แบงก์รัฐ “ล้านราย” จ่ายไม่ไหว

แฮร์คัตหนี้

คลังชง ครม. “แฮร์คัต” หนี้รายย่อยกว่า 1 ล้านบัญชี-ล้างสถานะ “NPL” หลังกู้ฉุกเฉิน “ออมสิน-ธ.ก.ส.” ช่วงโควิดแล้วผ่อนไม่ไหวกลายเป็นหนี้เสีย “จุลพันธ์” เสนอพักหนี้เอสเอ็มอี รหัส 21 เป็นเวลา 1 ปี-ลดดอกเบี้ย 1%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ โดยมีกลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่ง คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยจะมีปลดล็อกสถานะการเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้กับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อยที่กู้สินเชื่อฉุกเฉินจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.1 ล้านราย

โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ธ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้มีการตัดหนี้ หรือยกหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารได้ดำเนินการติดตามทวงถามหนี้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 ที่ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ก่อนจนสุดความสามารถแล้ว ยังไม่สามารถติดตามได้ ก็จะยกหนี้ให้ลูกหนี้ดังกล่าวเลย

“ลูกหนี้ส่วนนี้แม้วงเงินกู้ต่อรายจะไม่สูง แค่ 10,000 บาท แต่จำนวนรายมีมาก ก็จะมีการแฮร์คัต ยกหนี้ให้ โดยทั้ง 2 ธนาคารต้องติดตามทวงถามหนี้จนสุดทางก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีการทบทวนมติ ครม.เดิม เกี่ยวกับการจ่ายชดเชยให้กับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่ปล่อยกู้ฉุกเฉินช่วงโควิด ให้รัฐบาลจ่ายชดเชยหนี้ในส่วนที่ติดตามไม่ได้ หรือหนี้ที่จะแฮร์คัตให้ลูกหนี้ให้กับ 2 ธนาคารด้วย จากเดิมที่จะชดเชยให้เฉพาะกรณีเป็น NPL

นอกจากนี้ แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า คาดว่าจะมีการเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หรือลูกหนี้รหัส 21 ด้วย ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ โดยพักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ยให้ 1%

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ จะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการแก้ปัญหาหนี้ให้แก่เอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้รหัส 21 ประมาณ 60,000 รายด้วย

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

ขณะที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า จากที่รัฐบาลหมายให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กับประชาชนรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด กู้ได้สูงสุดรายละ 10,000 บาท โดยออมสินมีวงเงินปล่อยกู้ไปทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท ส่วน ธ.ก.ส. วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชดเชยกรณีเป็น NPL ให้แบงก์ 30-50% ของวงเงินปล่อยกู้ทั้งหมด

“พบว่า เป็นหนี้เสียประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือลูกหนี้ประมาณ 7 แสนราย โดยกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว จะยกภาระดอกเบี้ยให้ เพื่อลดภาระให้ในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่วนลูกหนี้ที่ชำระตามปกติก็มีมาตรการดูแลเพิ่มเติม ซึ่งจะเสนอให้ ครม.พิจารณา” นายกฤษฎากล่าว

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จะมีที่เป็นรายย่อยประมาณ 1.1 ล้านราย และที่เป็นเอสเอ็มอีประมาณ 1 แสนราย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารออกมาตรการ “แก้ไขหนี้ลูกหนี้ NPLs” ของสินเชื่อรายย่อยไม่มีหลักประกัน วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นให้ทั้งหมด ในวันที่ลูกหนี้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนยอดหนี้ที่เหลือ ธนาคารจะปรับลดเงินงวดผ่อนชำระเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยในปีแรกลงเหลือ 0% ต่อปี แล้วนำเงินงวดที่ลูกหนี้จ่ายชำระไปตัดยอดเงินต้นทั้งจำนวน จากนั้นในปีที่ 2 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา

“คาดว่าจะช่วยให้ลูกหนี้มีเงินคงเหลือเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และยังคงสถานะหนี้ชั้นปกติ ไม่เสียประวัติเครดิต ทำให้ในอนาคตยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ ทั้งนี้ ธนาคารจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ www.gsb.or.th และที่แอปพลิเคชั่น MyMo ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2566 ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2567 และทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567”

นอกจากนี้ ธนาคารจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายกับลูกหนี้สถานะ NPLs ด้วยมาตรการ “4 ไม่” คือ ไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณีว่าสถานะคดีของลูกหนี้แต่ละรายอยู่ในขั้นตอนใด โดยในการปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไข และให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี กำหนดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567 เช่นกัน