เปิดปม “บาทอ่อน” นำภูมิภาค จับตา Q2 ส่อทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทอ่อนตัว

ค่าเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในโซนอ่อนค่า ตั้งแต่เริ่มปี 2567 มาได้เพียง 3 สัปดาห์ หลังจากปิดสิ้นปี 2566 ไปที่ระดับกว่า 34 บาท ซึ่งมีหลาย ๆ ปัจจัยที่เข้ามากระทบ

เก็งดอกเบี้ยเฟดทำค่าเงินผันผวน

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2567 มา ตลาดก็ลดคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะ เวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มลดดอกเบี้ย ทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า เมื่อเทียบกับหลายสกุลเงิน รวมถึงเงินบาทด้วย

“ช่วงสั้น ๆ เราคิดว่าค่าเงินบาท จะอยู่แถวระดับ 35 บาท/ดอลลาร์กว่า ๆ คงยังไม่อ่อนไปถึง 36 บาท/ดอลลาร์ เพราะ 3 สัปดาห์แรกอ่อนค่ามากว่า 3% แล้วก็ถือว่าเยอะพอสมควร ซึ่งดูแล้วอ่อนค่ามากกว่าภูมิภาค ก็มาจากนโยบายที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น เช่น แรงกดดันภาครัฐต่อการทำนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รัฐอยากให้ลดดอกเบี้ย แต่แบงก์ชาติก็ชัดเจนว่าจะไม่ลดในเวลาอันใกล้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องจีน ที่ยังไม่ได้ฟื้นอย่างชัดเจน”

อย่างไรก็ดี นางสาวรุ่งกล่าวว่า ถึงสิ้นปีนี้ กรุงศรีฯยังคงคาดการณ์ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากถึงช่วงปลายปีน่าจะมีความชัดเจนเรื่องการลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งตามสมมุติฐานหลักของกรุงศรีฯก็มองเฟดจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย.-ก.ค.อยู่แล้ว

Q2 เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาท

นายนัทธ์ชนัน ธนชลวิไล หัวหน้าฝ่ายค้าผลิตภัณฑ์การเงิน บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “มุมมองและวิธีการจัดการกับความผันผวนของค่าเงิน USD และ THB” ว่า ช่วงไตรมาส 2/2567 เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะระดับ 36.00-36.50 บาท/ดอลลาร์

จากตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 4-5 ครั้ง ซึ่งต้องรอติดตามการประชุม FOMC ในเดือน มี.ค.นี้ หากเฟดส่งสัญญาณ หรือมีการคาดการณ์ปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 3 ครั้ง จะทำให้ดอลลาร์ปรับแข็งค่าได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการจ่ายเงินปันผลของบริษัทต่างชาติกลับต่างประเทศในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ด้วย อย่างไรก็ดี ช่วงครึ่งหลังของปีภาพการลดดอกเบี้ยของสหรัฐจะชัดเจนขึ้น และฤดูกาลจ่ายปันผลจบลง การท่องเที่ยว และฟันด์โฟลว์กลับมา ทำให้ค่าเงินบาท จะกลับมาเคลื่อนไหวแข็งค่าได้ในระดับ 33.00-34.00 บาท/ดอลลาร์

“ถ้าเฟดไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ ในไตรมาส 2 เราจะเห็นดอลลาร์แข็งค่า และบาทอ่อนค่าได้ และหลังจากนั้นเงินบาทจะกลับมาแข็งค่า เพราะภาพเฟดชัดเจนขึ้น แต่ความผันผวนยังคงมีอยู่”

5 ปัจจัยสะท้อนทิศทางเงินบาท

นายนัทธ์ชนันกล่าวอีกว่า ปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท จะมีอยู่ด้วยกัน 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งตั้งแต่ปี 2557-2562 ไทยเกินดุลต่อเนื่องราว 8-10% และในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ เนื่องจากไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ส่วนปัจจุบันดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย 2.เศรษฐกิจจีน 3.ราคาทองคำ จะสัมพันธ์กับค่าเงินบาท โดยหากราคาทองคำปรับขึ้น เงินบาทจะแข็งค่า และถ้าราคาทองคำลง เงินบาทก็จะอ่อนค่า

“ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ราคาทองคำมีผลต่อเงินบาทมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนจะเห็นการเคลื่อนไหวของค่าเงินราว 20-30 สตางค์”

4.นโยบายการเงินของสหรัฐ หากเทียบดอกเบี้ยสหรัฐปัจจุบันอยู่ที่ 5% และไทยอยู่ที่ 2.50% ซึ่งคาดว่าไทยจะยังคงดอกเบี้ยไว้ แต่หากเฟดลดดอกเบี้ย จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งที่ผ่านมาตลาดมีการคาดการณ์ (Price in) ไว้ว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ย 4-5 ครั้ง ทำให้ค่าเงินผันผวน และ 5.ดัชนี DXY หรือ Dollar Index

“5 ปัจจัยนี้ มีผลต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงิน หากเราดูระยะสั้นความผันผวนจะค่อนข้างเยอะ ประมาณ 80% จึงคาดเดาได้ยาก แต่หากมองในระยะยาวคาดเดาได้ว่า เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจมหภาค แต่หากระยะสั้น จะพิจารณาจากฟันด์โฟลว์ โดยเฉพาะบอนด์ระยะสั้น หากมีการซื้อมากกว่า 8,000 ล้านบาทขึ้นไป มองว่าเป็นการซื้อ เพื่อเก็งกำไรและจะมาคู่กับบาทแข็ง”