ประกันค่าชดเชยรายวัน รู้อะไรไม่สู้ รู้ว่าสำคัญ

ประกันสุขภาพ
บทความโดย "ธนภัทร จินดาหลวง" 
ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 “ยังไม่รับดีกว่า“ “พี่ทำไปแล้ว ไม่ค่อยได้นอนโรงพยาบาล” “ลืมซื้อเพิ่ม” ประโยคตัวอย่างที่หลาย ๆ คน บอกปัดเมื่อต้องซื้อประกัน แต่เมื่อเกิดเหตุและต้องนอน โรงพยาบาล อาจจะบอกว่า “รู้งี้ ซื้อประกันดีกว่า”

การเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บหรือเกิดจากอุบัติเหตุ ทำให้สูญเสียโอกาสต่าง ๆ ขาดรายได้จากการทำงาน ซึ่งหากเป็นมนุษย์เงินเดือนอาจจะยังไม่กระทบมากนัก แต่สำหรับอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ อาชีพค้าขาย หรือได้รับค่าจ้างรายวัน ถ้าไม่ได้ทำงานก็อาจทำให้รายได้หดหาย

คำนิยาม สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายวัน (HB : HOSPITAL BENEFIT) บางบริษัทประกัน ใช้คำว่าสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายได้ สัญญาเพิ่มเติมวงเงินแน่นอน โดยหลักคือ จะคุ้มครองในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย เข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน หรือเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล เกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป โดยสามารถเคลมค่าสินไหมทดแทนตามทุนประกันที่ทำไว้ คูณกับจำนวนวันที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น

ทำประกันค่าชดเชยรายวัน วันละ 3,000 บาท นอนรักษาตัวเป็นเวลา 5 วัน

เคลมได้ = 15,000 บาท

ทำประกันค่าชดเชยรายวัน วันละ 5,000 บาท นอนรักษาตัวเป็นเวลา 10 วัน

เคลมได้ = 50,000 บาท

โดยแต่ละบริษัทจะมีเพดานกำหนดจำนวนวันสูงสุด ที่สามารถเคลมได้ต่อครั้งต่อโรค แตกต่างกันไป เช่น 180 วัน หรือ 365 วัน เป็นต้น

หลายคนที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ อาจคิดว่ามีสิทธิรักษาเพียงพอแล้ว จึงไม่ได้ทำประกันค่าชดเชยรายวัน เพราะเชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่จะป่วยจนถึงขั้นนอนโรงพยาบาล หรือหากป่วยก็ไม่น่าจะนอนโรงพยาบาลนาน เกิน 1 หรือ 2 วัน จึงไม่ส่งผลกระทบกับรายได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์กับตัวเองจนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หรือหากป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือประสบอุบัติเหตุ ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนาน ๆ ซึ่งส่งผลกระทบกับฐานะทางการเงินของตัวเองและครอบครัวได้

กระนั้นก็ดี ถึงแม้จะไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้น เพราะมีประกันสุขภาพค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอ แต่อย่าลืมว่าภาระค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่รักษาตัวในโรงพยาบาล

เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน ค่าบัตรเครดิต ค่าเดินทางของญาติที่มาเฝ้าไข้ ค่ากิน ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างคนเฝ้าไข้ เป็นต้น หากต้องรักษาตัวนานขึ้นก็มีความเสี่ยงทางการเงินมากขึ้น อาจต้องหยิบยืม กู้สินเชื่อ หรือขายทรัพย์สินก็เป็นได้

การวางแผนทุนประกันค่าชดเชยรายวันที่เหมาะสม

คำนวณจากค่าใช้จ่ายจำเป็น เพื่อให้เพียงพอต่อสถานการณ์จริง หากวันใดวันหนึ่งเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา จนต้องนอนโรงพยาบาล เช่น

มีค่าใช้จ่าย = 30,000 บาทต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท ก็ควรที่จะทำประกันค่าชดเชยรายวัน ด้วยทุนประกันอย่างน้อยวันละ 1,000 บาทขึ้นไป

ซึ่งหากเป็นเสาหลักของครอบครัว หรือเสาหลักของกิจการ ทำธุรกิจส่วนตัว มีภาระค่าใช้จ่าย = 100,000 บาทต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 3 พันกว่าบาท ก็ควรวางแผนทำทุนประกันค่าชดเชย อย่างน้อยวันละ 3,000 บาทขึ้นไป เป็นต้น

ตัวอย่าง เบี้ยประกันสัญญาเพิ่มเติม ค่าชดเชยรายวัน

เพศชาย อายุ 30 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ = 432 บาท

เพศชาย อายุ 40 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ = 486 บาท

เพศชาย อายุ 50 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ = 567 บาท

เพศหญิง อายุ 30 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ = 432 บาท

เพศหญิง อายุ 40 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ = 486 บาท

เพศหญิง อายุ 50 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ = 567 บาท

เบี้ยประกันข้างต้น สามารถวางแผนทำเป็นโหมดราย 3 เดือน 6 เดือน หรือรายปีได้

สาเหตุที่ไม่ได้ซื้อประกันชดเชยรายได้เอาไว้ให้เพียงพอ

มาจากเหตุผลประกันค่าชดเชยรายวันจะเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อแนบกับประกันชีวิต ซึ่งเป็นสัญญาหลัก เมื่อไม่ได้คิดจะทำประกันชีวิตหรือไม่ได้รับการนำเสนอจากตัวแทน จึงไม่ทราบว่ามีประกันแบบนี้ด้วย

ซึ่งในปัจจุบัน บางบริษัทประกัน มีประกันค่าชดเชยรายวันขายโดยเฉพาะ โดยไม่ต้องซื้อประกันชีวิตก่อน อีกสาเหตุหนึ่งมองว่า เบี้ยประกันที่ชำระจะเป็นเบี้ยสูญเปล่า ยังไม่เห็นความจำเป็น หรือบางคนทำประกันนี้ แต่อาจจะทำทุนประกันที่น้อยกว่าความเหมาะสมที่แท้จริง เพราะเสียดายเบี้ยประกัน

เงื่อนไขการพิจารณารับประกันของแต่ละบริษัทประกัน ก็จะแตกต่างกันไป เช่น บางบริษัทมีเพดานกำหนดซื้อค่าชดเชยรายวันสูงสุดตามทุนประกันชีวิต (สัญญาหลัก) บางบริษัทดูรายได้ของผู้ขอเอาประกัน หากทำทุนประกันต่อวันที่สูง เช่น ทำแผนค่าชดเชยรายวัน วันละ 10,000 บาท ว่าสอดคล้องกับรายได้หรือไม่

ซึ่งในอดีต มีกรณีศึกษาการฉ้อฉลเอาประกัน โดยทำประกันค่าชดเชยรายวันสูง ๆ หรือทำหลายบริษัท มีการเคลมสินไหมครั้งหนึ่งหลายแสนบาท หรือป่วยเล็กน้อยแล้วขอนอนโรงพยาบาล โดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ ทำให้หลายบริษัทประกัน พิจารณารับประกันที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพและประวัติการรักษาในอดีต หรือข้อมูลทางการเงินของผู้ขอเอาประกันภัย เป็นต้น

มาถึงตรงนี้ หลายคนเห็นความสำคัญและสนใจอยากจะทำประกัน แต่กังวลเรื่องสุขภาพว่าจะทำได้หรือไม่ หรือจะต้องตรวจสุขภาพหรือเปล่า ควรติดต่อสอบถามตัวแทนประกัน หรือที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ เพื่อให้คำแนะนำและวางแผนประกันที่เหมาะสม เพราะบางกรณีอาจไม่อยู่ในเกณฑ์ หรืออายุเกินเกณฑ์ที่บริษัทประกันกำหนดเอาไว้

ดังนั้น หากตอนนี้สุขภาพแข็งแรง อายุยังอยู่ในเกณฑ์รับพิจารณา จึงไม่ควรรีรอให้สายเกินไปที่จะวางแผนทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง รวมถึงประกันค่าชดเชยรายวัน เพื่อตัวเอง และคนที่เรารัก