หากต้องจากไป จะส่งต่อทรัพย์สินอย่างไร ไม่ให้ตกหล่น ?

วางแผนการเงิน
บทความโดย "นิราวัลย์ ธรรมศิริเจริญ" 
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

 

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 สมมุติว่าวันนี้เราเผลอหลับไป แล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เราสร้างและสะสมมา เช่น เงินสด ที่ดิน ธุรกิจ หุ้น เครื่องประดับ ของสะสม ฯลฯ จะตกไปอยู่กับใคร

ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนผ่านจากทรัพย์สินไปเป็นมรดก มักจะมีบางส่วนที่หายไป เช่น ค่าใช้จ่ายในการถ่ายโอนทรัพย์สิน หากทรัพย์มรดกนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ต้องชำระภาษีก่อนที่จะส่งต่อให้กับผู้รับพินัยกรรมหรือทายาท ทั้งยังอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว เกิดความล่าช้า และทรัพย์สินอาจไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังบุคคลที่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของทรัพย์สิน หากไม่มีการวางแผนที่ดี

การตกทอดของมรดก

การตกทอดของมรดก ไม่ใช่มีเพียงแต่ทรัพย์สิน แต่ยังรวมถึงหนี้สินด้วย หากเจ้ามรดกมีหนี้สิน ก็ต้องนำหนี้สินมาหักออกจากทรัพย์สิน แล้วจึงส่งต่อให้กับผู้รับพินัยกรรม หรือทายาทโดยธรรมตามลำดับ

หากเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิต โดยไม่มีพินัยกรรม หรือไม่ได้มีการเตรียมการใด ๆ ทรัพย์มรดกจะตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดก ซึ่งมี 6 ลำดับดังนี้ (ป.พ.พ. 1629) 1.ผู้สืบสันดาน (บุตร หลาน เหลน) 2.บิดา มารดา 3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4.พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 5.ปู่ ย่า ตา ยาย 6.ลุง ป้า น้า อา

การรับมรดกจะเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ทายาทที่อยู่ลำดับถัดมาจะมีสิทธิได้รับมรดกต่อเมื่อไม่มีทายาทลำดับก่อนหน้า ตามหลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง” ยกเว้นทายาทลำดับ 1 จะไม่ตัดทายาทลำดับที่ 2 แต่ถ้าเจ้ามรดกไม่เหลือใคร ทรัพย์มรดกจะตกเป็นของแผ่นดิน

กรณีเจ้ามรดกมีคู่สมรส จะมีการแบ่งแยกทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส เป็นสินส่วนตัว และสินสมรส โดยคู่สมรสจะได้รับส่วนแบ่ง 50% ของสินสมรสไปก่อน ส่วนแบ่งอีก 50% ของสินสมรส และสินส่วนตัวของเจ้ามรดก จะถือเป็นมรดกที่จะส่งต่อให้ผู้รับพินัยกรรม หรือทายาทตามลำดับ กรณีไม่มีทายาทเหลืออยู่เลย คู่สมรสจะได้รับมรดกทั้งหมด (ป.พ.พ. 1635)

โชคดีที่วันนี้เราได้ตื่นมาอีกครั้ง ถ้าเราไม่ต้องการให้ทรัพย์สินตกหล่น หรือตกไปยังคนที่ไม่ต้องการ ไม่อยากให้คนในครอบครัวทะเลาะกัน เรากำหนดได้ว่าจะให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ไปอยู่กับใคร โดยการวางแผนการจัดการทรัพย์สิน หรือวางแผนมรดกไว้ล่วงหน้า

การจัดการทรัพย์สิน

แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.การจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิต : เจ้าของทรัพย์สินโอนหรือให้สิทธิในการใช้ทรัพย์สินของตนแก่บุคคลอื่น ในขณะที่ยังมีชีวิต

2.การจัดการมรดก : เจ้าของทรัพย์สินทำพินัยกรรมเพื่อจัดการทรัพย์สิน (มรดก) ของตน โดยให้มีผลหลังจากตนเสียชีวิตแล้ว กรณีที่มีพินัยกรรม กฎหมายให้แบ่งทรัพย์ที่กำหนดในพินัยกรรมให้ผู้รับพินัยกรรมก่อน หากมีทรัพย์ที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม จะแบ่งให้ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

การจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิต สามารถทำได้หลายรูปแบบ ดังนี้
1.การกระจายทรัพย์สินให้สมาชิกครอบครัว ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น

  • การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ
  • การให้สิทธิในการใช้หรือหาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ เช่น สิทธิอาศัย : ให้สิทธิพักอาศัยในโรงเรือน สิทธิเหนือพื้นดิน : ให้สิทธิปลูกสร้างอสังหาริมทรัพย์บนที่ดิน สิทธิเก็บกิน : ให้สิทธิในการใช้ ครอบครอง และถือเอาประโยชน์โดยไม่จำกัด

2.การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อถือครองทรัพย์สิน เช่น บริษัทโฮลดิ้งที่ถือครองเงินทุน (Equity Holding Company) หรือบริษัทโฮลดิ้งที่ถือครองตัวทรัพย์สิน (Asset Holding Company) ซึ่งเป็นการแยกทรัพย์สินของครอบครัวออกจากกิจการของครอบครัว เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้ของบริษัทที่ประกอบกิจการบังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สินของครอบครัว

ในขณะเดียวกัน หากสมาชิกครอบครัวก่อหนี้ส่วนตัว เจ้าหนี้ของสมาชิกครอบครัวก็ไม่สามารถเรียกร้องให้บริษัทที่ดำเนินกิจการของครอบครัวชำระหนี้ส่วนตัวของสมาชิกครอบครัวได้เช่นกัน และสามารถสร้างกฎระเบียบการบริหารจัดการทรัพย์สินผ่านข้อบังคับของบริษัทโฮลดิ้งได้ และอาจจะได้ประโยชน์ทางภาษีตามประมวลรัษฎากรด้วย

3.บริหารทรัพย์สินโดยใช้ธรรมนูญครอบครัว ธรรมนูญครอบครัว คือเอกสารที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของสมาชิกครอบครัว ซึ่งกำหนดหลักในการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และการปฏิบัติตนต่อสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ และบุคคลภายนอก ธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยกำหนดให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับรูปแบบการจัดการทรัพย์สินที่เลือกไว้ได้

ขั้นตอนการวางแผนมรดก

1.รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ ตราสารทุน เงินลงทุนในกองทุนหรือหลักทรัพย์ เอกสารแสดงสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ กรมธรรม์ประกันชีวิต และทรัพย์สินอื่น ๆ พร้อมระบุประเภท ชนิด และจำนวน รวมทั้งหนี้สิน ภาระผูกพันต่าง ๆ

2.รวบรวมข้อมูลส่วนตัว เช่น บัญชีเครือญาติและผู้ที่อยู่ในความดูแล อาชีพ รายละเอียดของกิจการและโครงสร้างการถือหุ้น

3.เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิตและการจัดการมรดก โดยคำนึงถึงข้อพิจารณาทางกฎหมาย ข้อพิจารณาทางภาษี และข้อพิจารณาอื่น ๆ

  • ข้อพิจารณาทางกฎหมาย การจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิต จะใช้สัญญาเป็นเครื่องมือจัดการ ที่จะมีผลบังคับทันที ซึ่งหากสัญญาเกิดสมบูรณ์แล้วจะแก้ไข เปลี่ยนแปลงได้ยาก การจัดการมรดก จะใช้พินัยกรรมเป็นเครื่องมือในการจัดการ และเกิดผลบังคับเมื่อเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิต ซึ่งแก้ไขได้ตลอดเวลาในขณะที่เจ้าของทรัพย์สินยังมีชีวิตอยู่ ข้อพิจารณาทางภาษี กรณีมีการให้หรือโอนทรัพย์สินในขณะที่ยังมีชีวิต ให้แก่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หรือโอนให้บุคคลอื่น เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ผู้รับโอนทรัพย์สิน จะต้องเสียภาษีการรับให้ (Gift Tax) 5%

กรณีมีการโอนมรดกหลังจากเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิต หากผู้รับโอนเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะต้องเสียภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) 5% หรือหากผู้รับโอนเป็นบุคคลอื่น จะต้องเสียภาษีการรับมรดก 10% ของทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

  • ข้อพิจารณาอื่น ๆ ผลกระทบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัว หากมีการจัดการขณะมีชีวิต เจ้าของทรัพย์สินสามารถเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยได้ แต่หากมีผลกระทบหลังจากเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิตไปแล้ว ทายาทจะต้องตกลงกันเอง ผลกระทบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินต่อไปในอนาคต หากผู้รับโอนยังเป็นผู้เยาว์ จะทำให้การจัดการทรัพย์สินยุ่งยาก เพราะการจัดการบางอย่างต้องขออนุญาตจากศาล

ณ วันนี้ ในขณะที่เรายังมีชีวิต เราสามารถเลือกได้ว่า ภาพฝันที่อยากให้เกิดขึ้นหลังจากที่เราจากไปเป็นอย่างไร ทรัพย์สินที่สร้างและสะสมมา ทำอย่างไรให้ไม่ตกหล่น และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ตามความต้องการ หากมีการวางแผนมรดก และส่งต่อทรัพย์สินอย่างเป็นระบบ