ดอลลาร์ลดแรงบวก หลังตัวเลขเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด

ดอลลาร์

ดอลลาร์ลดแรงบวก หลังตัวเลขเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด ทั้งยอดขายบ้านใหม่ ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงานและปัจจัยทางการเมืองในสหรัฐ

วันที่ 1 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันอังคาร (27/2) ที่ระดับ 35.89/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 36.11/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานยอดขายบ้านใหม่ในวันจันทร์ (26/2) ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์โดยปรับตัวขึ้น 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 661,000 ยูนิต ในเดือนมกราคม ขณะที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 680,000 ยูนิต ส่วนเมื่อเทียบเป็นรายปียอดขายบ้านใหม่ปรับตัวขึ้น 1.8% ในเดือนมกราคม

สำหรับยอดขายบ้านใหม่เดือนธันวาคมถูกปรับลดลงสู่ระดับ 651,000 ยูนิต จากที่รายงานไว้เบื้องต้น 664,000 ยูนิต โดยส่งสัญญาณว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น แล้วค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยกดดันจากการเปิดเผยผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงานและปัจจัยทางการเมืองในสหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลง

โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 106.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ 110.9 ในเดือนมกราคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 115.0 นอกจากนี้ ดัชนีคาดการณ์เงินเฟ้อยังลดลงสู่ระดับ 5.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 256.3 จากระดับ 5.3% ในเดือนมกราคม

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน

และทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ ดิ่งลง 6.1% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 4.5% หลังจากปรับตัวลง 0.3% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนลดลง 0.8% ในเดือนมกราคม โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อเครื่องบิน

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ดิ่งลง 19.4% ในเดือนมกราคม หลังจากร่วงลง 1.0% ในเดือนธันวาคม

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องในวันพฤหัสบดี (29/2) จากแรงกดดันจากการที่สหรัฐ เปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ และปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยดัชนี PCE ทั่วไป (Headllne PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมกราคม และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมกราคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนธันวาคม

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานและเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนธันวาคม และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมกราคมหลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนธันวาคม

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 215,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 210,000

เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงฤดูร้อนปีนี้

ทั้งนี้นอกจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าคาดแล้ว ค่าเงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากความเห็นจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้

โดยนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตาได้ระบุย้ำถึงมุมมองของเขาที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงฤดูร้อนปีนี้ โดยจะพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน นายออสเตน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวว่า อุปทานสินค้าและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้นในปีที่แล้วนั้น จะทำให้เงินเฟ้อลดลงในปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่า เขายังคงสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเดิม ๆ โดยมีการขึ้นลงตามการขึ้นลงของค่าเงินดอลลาร์และราคาทองในตลาดโลก โดยในวันพุธ (28/2) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ทำการเปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนมกราคม ปี 2567 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.82-36.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/3) ที่ระดับ 35.96/99/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวดีขึ้น

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าในวันอังคาร (27/2) ที่ระดับ 1.0845/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 1.0816/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในส่วนของการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญภายในยุโรปนั้น ในวันศุกร์ (23/2) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี (Ifo) เปิดเผยผลสำรวจว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 85.5 ในเดือนกุมภาพันธ์

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ เนื่องจากการที่กลุ่มบริษัทในเยอรมนีมีมุมมองเชิงลบน้อยลงต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยดัชนีความคาดหวังของภาคธุรกิจในเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 84.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ จาก 83.5 ในเดือนมกราคม ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 84.0

โดยนายเคลเมนส์ ฟิวสห์ ประธาน Ifo กล่าวว่าเศรษฐกิจเยอรมนีทรงตัว แม้ว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี สำนักงานสถิติเยอรมนีรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2566 หดตัว 0.3% โดยยังยืนยันว่าเศรษฐกิจหดตัวตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

ในวันอังคาร (27/2) สถาบัน GfK และสถาบันนูเรมเบิร์กเพื่อการตัดสินใจด้านตลาด (NIM) ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับต่ำในเดือนมีนาคม เนื่องจากภาคครัวเรือนเผชิญกับความไม่แน่นอน ด้วยราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและเศรษฐกิจเยอรมนีที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีอยู่ที่ -29.0 ในเดือนมีนาคม ขยับขึ้นเล็กน้อยจาก -29.6 ซึ่งเป็นระดับที่ปรับค่าแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ และเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0795-1.0865 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/3) ที่ระดับ 1.0814/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันอังคาร (27/2) ที่ระดับ 150.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 150.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันอังคาร (27/2) กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น (MIC) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือนมกราคม โดยชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน แต่ยังสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดว่าจะปรับตัวขึ้น 1.8% และยังเป็นไปตามเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ จะตัดสินใจยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบได้ในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวเช่นนี้ก็ตอกย้ำความคาดหวังที่ว่า บริษัทขนาดใหญ่จะเสนอปรับขึ้นค่าแรงเป็นจำนวนมากในการเจรจาค่าแรงระหว่างฝ่ายพนักงานและฝ่ายบริหารในวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งจะปูทางไปสู่การยกเลิกอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมนโยบายการเงินประจำวาระถัดไป

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.22-150.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/3) ที่ระดับ 150.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ