เปิดเทคนิคการวางแผนภาษี สำหรับการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ตอนที่ 1

อสังหาริมทรัพย์
บทความโดย “รัตนาวดี อนุสรณ์วงศ์ชัย”
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

วันที่ 4 มีนาคม 2567 ปัจจุบัผู้คนตระหนักเกี่ยวกับการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณมากขึ้น โดยนำเงินออมมาบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนผ่านการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ ทองคำ เป็นต้น

หนึ่งในทางเลือกที่นิยมกัน คือ การนำอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่หลายแห่งไปให้ผู้อื่นเช่า แต่เมื่อมีรายได้ค่าเช่า สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ ภาษี ดังนั้นควรศึกษาถึงภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารภาษีอย่างถูกกฎหมายและประหยัดภาษีได้มากที่สุด

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการมีรายได้ค่าเช่า

1) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากผู้ที่เป็นเจ้าของคอนโดมิเนียม มีทั้งคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยเอง (มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน) และคอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่าอีกหลายที่ โดยคอนโดมิเนียมแต่ละที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท กรณีนี้จะมีคอนโดมิเนียมหลังแรก ที่ใช้อยู่อาศัยเองเท่านั้นที่ได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

คอนโดมิเนียมหลังถัดไปเพื่อปล่อยเช่า จะเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 0.02 หรือเสียภาษีล้านละ 200 บาท เนื่องจากปัจจุบัน กรณีการให้เช่าคอนโดมิเนียมเป็นรายเดือน ถือว่าเป็นการใช้เพื่ออยู่อาศัย ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย

2) อากรแสตมป์ สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ ในอัตรา 1 บาท ต่อทุกจำนวนของค่าเช่า 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท

3) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หากผู้เช่าเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ให้เช่าจะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ถ้ากรณีผู้เช่าเป็นบริษัท ผู้เช่าที่เป็นบริษัทจะมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 กรณีนี้ ผู้ให้เช่าจะต้องได้รับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายที่ออกโดยผู้เช่า เพื่อที่ผู้ให้เช่าจะสามารถใช้เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

4) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าเช่า ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 หรือที่เรารู้จักกันว่า เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) โดยเงินได้ค่าเช่าจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้จาก 2 วิธี คือ

หักแบบเหมา เช่น กรณีให้เช่าบ้าน คอนโดมิเนียม หักได้ร้อยละ 30 และหากเป็นการให้เช่าที่ดิน ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม หักได้ร้อยละ 15 ของรายได้ หรือ

หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร โดยการหักค่าใช้จ่ายตามจริง ในกรณีมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายตามจริงมากกว่าการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ผู้มีเงินได้อาจเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง ทั้งนี้จะต้องมีเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการหักค่าใช้จ่ายตามจริงด้วย เช่น ใบเสร็จรับเงินจากการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สามารถใช้เป็นเอกสารการหักค่าใช้จ่ายได้ เป็นต้น

การเสียภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีรายได้ค่าเช่า จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษี 2 ครั้ง

นำรายได้ค่าเช่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน มายื่นแบบแสดงรายการแบบครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ภายในเดือนกันยายน และ
นำรายได้ค่าเช่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม มายื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยสามารถนำภาษีที่จ่ายไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรกตามแบบ ภ.ง.ด.94 มาคำนวณออกจากภาษีประจำปีได้

ข้อควรระวัง

หากอสังหาริมทรัพย์เป็นกรรมสิทธิ์รวม เช่น นายภาษีและนายออม เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน โดยที่ดินดังกล่าวไม่ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ หากต้องการนำที่ดินให้ผู้อื่นเช่า โดยได้รับค่าเช่า 100,00 บาท กรณีนี้นายภาษีและนายออม ไม่สามารถแบ่งค่าเช่าคนละ 50,000 บาท เพื่อนำไปรวมเสียภาษีภายใต้นามของตัวเองได้

เนื่องจากการนำที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมออกให้เช่าเพื่อประสงค์แบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังนั้น ค่าเช่า 100,000 บาทดังกล่าวจะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามห้างหุ้นส่วนสามัญ

โดยหากนายภาษีและนายออมนำเงินได้จากการเช่าที่ดินเฉพาะส่วนของตนเองไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามของตนเองแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผิดหน่วยภาษี และจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามห้างหุ้นส่วนสามัญใหม่พร้อมกับเสียเงินเพิ่ม และห้างหุ้นส่วนสามัญไม่มีสิทธินำภาษีอากรที่ได้ชำระในนามของนายภาษีและนายออมมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระตามแบบ ภ.ง.ด.90 ของห้างหุ้นส่วนสามัญได้

หมายเหตุ : เงินส่วนแบ่งกำไรของผู้เป็นหุ้นส่วน ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีในนามนายภาษีและนายออมอีกครั้ง หากเป็นกรณีเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับทางมรดกหรือโดยเสน่หา

เนื่องจากภาษี ถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง หากศึกษาอย่างดี จะสามารถจัดการภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เสียภาษีอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด