กสิกรไทย ตั้งเป้าปี’67 ปล่อยกู้สินเชื่อสีเขียวทะลุแสนล้าน เจาะรายใหญ่สู่ความยั่งยืน

นายพิพิธ อเนกนิธิ

ธนาคารกสิกรไทย เดินหน้าสนับสนุนลูกค้าสู่ความยั่งยืน ตั้งเป้าปี’73 ปล่อยกู้สีเขียว 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของพอร์ตรวมธนาคาร ส่วนปี’67 คาดแตะ 1 แสนล้านบาท เจาะลูกค้ารายใหญ่ยอดขาย 1-5 พันล้านบาท หนุนเปลี่ยนผ่านธุรกิจ พร้อมดึงชัพพลายเชนทั้งระบบ  

วันที่ 19 มีนาคม 2567 นายพิพิธ อเนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมแผนในเรื่องของ Transition Product และ Transition Plan สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดให้ธนาคารเตรียมให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 และในปี 2568 ซึ่งธนาคารยังคงเดินหน้าสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านอย่างครบวงจร ทั้งในส่วนของสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) และสินเชื่อเพื่อการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) เป็นต้น

นอกจากนี้ ธนาคารมีการวางแผนกลยุทธ์รายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) ไปแล้ว 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้นน้ำ กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอะลูมิเนียม เป็นต้น โดยพบว่ามีความคืบหน้าที่วัดผลได้ อาทิ พอร์ตโฟลิโออุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ซึ่งธนาคารสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว จำนวน 3,800 ล้านบาท ปัจจุบันธนาคารมีระดับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Intensity per GWh) ในพอร์ตนี้ลดลง 5% ในปี 2566

สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ธนาคารตั้งเป้าภายในปี 2573 เม็ดเงินรวม 2 แสนล้านบาท (รวมไทยและธุรกิจต่างประเทศ) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมดของธนาคารที่มีอยู่กว่า 1.7 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี หากวงเงินครบก่อนกำหนด ธนาคารมีแผนทบทวนในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น คาดว่าภายในปี 2568 น่าจะทบทวนได้

นายพิพิธ อเนกนิธิ

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยื่นไปแล้วกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าในปี 2567 จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างไรก็ดี เม็ดเงินที่เหลืออีกราว 2.7 หมื่นล้านบาท ธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ (Last Corporate) ประมาณ 80% หรือมียอดขายตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาท และที่เหลืออีก 20% คาดว่าลูกค้ารายใหญ่จะดึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่ภายใต้ซัพพลายเชนในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่มีพลังที่จะช่วยลูกค้ารายกลางได้

“เราไม่ได้วางตัวแค่การปล่อยสินเชื่อ แต่เป็นการสนับสนุนลูกค้าและภาคธุรกิจในการเปลี่ยนไปสู่สีเขียว เพราะนี่คือระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ Base on บน Carbon ซึ่งจะเป็นการวิ่งคู่ขนานกับระบบเศรษฐกิจเดิม วันนี้ถือเป็นจุด Turning Point เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้กลุ่มสีน้ำตาลไม่ลดลงช้าเกินไป และสีเขียวโตเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เราชนะในการเกมส์การแข่งขันนี้ หลังจากที่เราราบแพ้ราบก่อนหน้านี้”

นอกจากนี้ ธนาคารเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อใน Carbon Ecosystem เพื่อการพัฒนาบริการไปอีกขั้น ในธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิต โดยศึกษาและดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิตสำหรับการชดเชยทางคาร์บอนของธนาคารและบริษัทในกลุ่ม เพื่อสนับสนุนคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพ และมีความมุ่งหวังที่จะเป็นตัวอย่างและร่วมผลักดันให้ตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยเติบโตและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้มีการเปิดตัวแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และ Innopower เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขึ้นทะเบียนและขายใบรับรอง REC ได้ รวมถึงธนาคารได้ศึกษาและเตรียมแนวทางในมิติอื่น ๆ ของระบบนิเวศด้านคาร์บอนเครดิต เช่น การเป็นตัวแทนซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Broker/Dealer) การออกโทเค็นคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Tokenization)

“โปรดักต์โปรแกรมเรามีอยู่แล้ว ทำได้ไม่ยาก ซึ่งแรงจูงใจในการสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านยอมรับจะเป็นเรื่องของดอกเบี้ย แต่ลูกค้าจะต้องทำตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้ได้ เช่น ลูกค้าจะมีการจำกัดน้ำเสีย หากสามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์อาจจะได้รับดอกเบี้ยที่ลดลง 0.125% ต่อปี แต่หากทำไม่ได้ดอกเบี้ยจะขึ้นไปอยู่ในระดับปกติ เป็นต้น”