ประกันคุมเคลม “ป่วยเล็กน้อย” หวังกดราคาเบี้ยสุขภาพ ไม่แพงเกินควร

sick

คปภ.ถก 2 นายกสมาคมประกัน แก้ปมค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นทุกปี หวั่นส่งผลกระทบทำเบี้ยประกันสุขภาพพุ่งกระทบประชาชนจ่ายไม่ไหว เล็งคลอดเกณฑ์คุมเบิกเคลมถี่ “เจ็บป่วยเล็กน้อย” ฉ้อฉลขอนอนโรงพยาบาลหวังค่าชดเชยรายวัน “สมพร” ชงผู้เอาประกัน “ร่วมจ่าย-ออกโปรดักต์รักษาเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ-ระบุชื่อโรงพยาบาล” ช่วยต้นทุนรักษาต่ำลง ฟาก “สาระ” รับแนวโน้มค่าสินไหมประกันสุขภาพเริ่มน่ากังวล ชี้ต้องยึดหลักความจำเป็นทางการแพทย์มากขึ้น

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านประกันภัย (OIC MEETS CEO 2024) เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การหารือกันถึงแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการประกันสุขภาพ ตามที่สมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย นำเสนอ ซึ่งสืบเนื่องมาจากค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นต่อเนื่อง

โดยเฉพาะจากอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาล (Medical Inflation) ที่โตเร็วมากปีละ 8-14% อาจจะเป็นอุปสรรคในวันข้างหน้า และจะกระทบย้อนกลับทำให้ค่าเบี้ยประกันสุขภาพแพงขึ้น

“ถ้าไม่รีบจัดการ จะกระทบถึงความสามารถของประชาชนที่จะจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพไม่ไหว เพราะถ้าเราปล่อยให้
เบี้ยโตตามค่ารักษา ก็แปลว่าเราจะเริ่มทิ้งผู้ทำประกันบางราย ซึ่งเขาจ่ายไม่ไหว ดังนั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องรีบแก้ปัญหา และเป็นประเด็นที่บอร์ด คปภ.ตระหนักมาก คือการประกันสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคน ทั้งผู้มีรายได้น้อย 
รายได้ปานกลาง และรายได้สูง จะต้องการเข้าถึงได้”

ชูฉัตร ประมูลผล
ชูฉัตร ประมูลผล

ทั้งนี้ คปภ.ต้องการรักษาการเติบโตของเบี้ยประกันสุขภาพ แต่ไม่ต้องการเพิ่มเบี้ยรายบุคคล ซึ่งเบื้องต้นมีการพูดคุยทางออกในหลายมิติ คือ 1.การออกหลักเกณฑ์มากำกับดูแลเรื่อง
การเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ, ไข้หวัด, ท้องเสีย, เวียนศีรษะ เป็นต้น เพื่อทำให้การใช้ประกันสุขภาพมีความเหมาะสม

2.การออกมาตรการควบคุมการฉ้อฉลประกันสุขภาพ เพื่อลดการรั่วไหลของเงิน เช่น กรณีผู้ทำประกันที่เรียกร้องเบิกเคลมประกันมากเกินไป (Overuse) ในโรคเดียวกัน โดยเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง หรือขอนอนโรงพยาบาลเพื่อต้องการเบิกค่าชดเชยรายวัน เป็นต้น

และ 3.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพใหม่ ๆ ที่จะคุ้มค่า โดยในปัจจุบันผู้ทำประกันสุขภาพจะเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก ดังนั้นต่อไปอาจจะต้องหารือกับโรงพยาบาลรัฐที่จะออกผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพเป็นการเฉพาะขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งมีต้นทุนการรักษาที่ต่ำกว่า

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมพยายามหากลไกการบริหารจัดการเข้ามาร่วมด้วย เช่น ได้เสนอแนวทางร่วมจ่าย (Copay Insurance) เนื่องจากทุกวันนี้ประกันสุขภาพที่ออกมาแล้ว ตั้งแต่บาทแรกถ้ากรมธรรม์ทริกเกอร์ บริษัทประกันภัยไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต

หรือบริษัทประกันวินาศภัย จะต้องจ่ายเคลมให้กับสถานพยาบาลตามข้อกำหนด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดช่องโหว่การเรียกร้องเบิกเคลมประกันมากเกินไป (Overuse) ได้

“ถ้ามีส่วนร่วมจ่าย สิ่งที่ประชาชนจะได้ ก็คือจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันการใช้สิทธิรักษาพยาบาลก็จะมีความระมัดระวังขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดที่จะออกกรมธรรม์ประกันสุขภาพ แยกเฉพาะสำหรับการเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีต้นทุนการรักษาที่ต่ำกว่า เพราะฉะนั้นเบี้ยประกันสุขภาพโดยรวม ก็อาจจะถูกกว่า หรือต้องมีการจัดเกรดโรงพยาบาลเป็นกลุ่ม A B C ตามอัตราค่ารักษาพยาบาลที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงการออกกรมธรรม์ที่ระบุรายชื่อโรงพยาบาลเจาะจงลงไป

“สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกที่ถูกโยนเข้าไป เพื่อหาแนวทางแก้ไข และต่อไปจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย และ/หรือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนด้วย ผลสุดท้ายคือจะทำอย่างไรที่จะยืดระยะเวลาในการไม่ขึ้นเบี้ยประกันสุขภาพ เพื่อไม่กลายเป็นภาระของประชาชน ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่ภาคธุรกิจประกันภัยเจออย่างเดียว เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสุขภาพ ก็ล้วนแต่เจอปัญหาเดียวกันทั้งสิ้น”

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า เรื่องแนวโน้มค่าสินไหมทดแทนของประกันสุขภาพ เริ่มน่ากังวลมากขึ้น เป็นหนึ่งในปัจจัยท้าทายของบริษัทประกันชีวิตอยู่พอสมควร เห็นจากอัตราส่วนการเคลมค่อนข้างสูงพอสมควร ซึ่งจริง ๆ เป็นสิทธิของลูกค้าผู้เอาประกัน เพียงแต่ต้องมีหลักตามมาตรฐาน หรือความจำเป็นทางการแพทย์ที่มากขึ้น

“อีกด้านหนึ่งที่มีการคุยกัน คือ จะทำอย่างไรที่จะให้ความรู้กับผู้เอาประกัน หรือคนที่ยังเข้าไม่ถึงเรื่องประกัน ได้เห็นถึงความสำคัญของการมีหลักประกันสุขภาพหรือความคุ้มครองสุขภาพ และความจำเป็นทางการแพทย์ที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้อาจจะต้องทำควบคู่กับพาร์ตเนอร์สถานพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาสถานพยาบาลต่าง ๆ ถือเป็น Good Partner ที่ดีกันมาโดยตลอด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิต มีเบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง 109,786 ล้านบาท เติบโต 5.93% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยสุขภาพ 15,669 ล้านบาท ลดลง 0.9%