มุมมอง “ชัย โสภณพนิช” ธุรกิจประกันวินาศภัยจะเหลือน้อยลง

มุมมอง “ชัย โสภณพนิช” ธุรกิจประกันวินาศภัยจะเหลือน้อยลง
สัมภาษณ์

“นโยบายการควบรวมกิจการ หรือ M&A ของกรุงเทพประกันภัย ยังมีอยู่ตลอด ถ้าเจอโอกาส แต่ถ้าลงทุนบริษัทขนาดเล็กอาจจะไม่คุ้ม ทางที่ดีต้องเป็นบริษัทขนาดกลางขึ้นไป และตอนนี้สนใจบริษัทที่มีพอร์ตโฟลิโอทางด้านงานรับประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Nonmotor) เป็นหลัก” คำประกาศของ “เจ้าสัวชัย โสภณพนิช” ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ แสดงถึงการมองหาโอกาสขยายพอร์ตประกันของบริษัทเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

ประกันเข้าสู่ยุคควบรวม

“เจ้าสัวชัย” กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยไม่กี่ปีต่อจากนี้ จำนวนบริษัทน่าจะลดลงเหลือประมาณ 25-30 บริษัท จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 50 บริษัท เบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งตลาดเกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งมีบริษัทขนาดเล็กอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นในระยะยาวจะอยู่ลำบาก ถ้าไม่หาวิธีพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างรายได้ เพราะถ้ามีรายได้น้อย ก็รอดยาก

ด้วยกฎระเบียบใหม่ต่าง ๆ ต่อไปในอนาคตจะยิ่งทำให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร ที่จะลงทุนทั้งคนและระบบเทคโนโลยี ดังนั้นเชื่อว่าการควบรวมกิจการต่อจากนี้จะมีมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมจากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่มุ่งไปที่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทประกันภัย ซึ่งถ้าจำนวนบริษัทยิ่งน้อย มองว่าการแข่งขันก็จะยิ่งมีมากขึ้น

“พวกบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กจะลำบากเรื่องพัฒนาระบบและจ้างคน เพราะปัจจัยพวกนี้มีต้นทุนสูง ยกตัวอย่าง เช่น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ถ้าไม่มีประจำก็ต้องจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) ซึ่งค่าจ้างค่อนข้างสูง ดังนั้นเมื่อเทียบรายได้กับรายจ่ายจะมีปัญหาได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้เปรียบ เพราะความสามารถมีมากกว่า”

ต่างชาติพุ่งเป้าซื้อบริษัทใหญ่

ขณะเดียวกันในสายตาของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาลงทุนธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยก็มีสูง โดยตอนนี้การเข้ามาเป้าหมายคือ ลงทุนบริษัทประกันวินาศภัยในระดับท็อป 5 ของอุตสาหกรรม เพราะมองว่าถ้าไม่ใหญ่พอก็ไม่คุ้มที่จะเข้ามาลงทุน

เนื่องด้วยถ้าไปลงทุนในบริษัทขนาดเล็ก ๆ จะต้องลงทุนระบบ ขยายงานที่มาก ซึ่งก็อาจขาดทุน เพราะต้องไปตัดราคาแข่ง โดยตอนนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยต่างชาติในประเทศไทย ดำเนินกิจการอยู่ประมาณ 12-15 บริษัท

สนใจ M&A “น็อนมอเตอร์”

สำหรับนโยบาย M&A ของบริษัทกรุงเทพประกันภัย ถือว่ายังมีอยู่ตลอดถ้าเจอโอกาส เบื้องต้นจะพิจารณาบริษัทที่สนใจจากแหล่งที่มาของงานรับประกันภัย และผลการดำเนินงานที่มีกำไร แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดเล็กก็อาจจะไม่คุ้ม เพราะพอร์ตเบี้ยประกันมีสัดส่วนน้อย ทางที่ดีต้องเป็นบริษัทขนาดกลางขึ้นไป ซึ่งตอนนี้สนใจมุ่งเน้นบริษัทที่มีพอร์ตงานรับประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Nonmotor) เป็นหลัก

มอง “สินมั่นคง” โอกาสรอดยาก

ส่วนกรณีปัญหาของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้ให้โอกาสฟื้นฟูกิจการตัวเองอยู่ในขณะนี้นั้น “เจ้าสัวชัย” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คงฟื้นฟูกิจการกลับมาได้ยากแล้ว เพราะว่ามีหนี้โควิดมูลค่าหลายหมื่นล้าน และพนักงานหรือบุคลากรก็ค่อย ๆ ถูกบริษัทอื่นดึงตัวไปทำงาน

“จริง ๆ ก่อนหน้านี้ บริษัทสินมั่นคงประกันภัยได้เคยเข้ามาติดต่อกับบริษัทกรุงเทพประกันภัย และอีกหลาย ๆ บริษัท และตอนนั้นก็มีความสนใจจะเข้าไปถือหุ้นและช่วยเหลือทางการเงิน เหตุผลเพราะเราเห็นวิธีการบริหารงานที่ดี ซึ่งการบริหารธุรกิจประกันภัยจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเป็นสำคัญด้วย แต่ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่าจะต้องแก้ปัญหาเรื่องหนี้โควิดให้ได้ก่อน และมาเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ แต่สุดท้ายก็จัดการไม่ได้”

ทางออกกองทุนประกันวินาศภัย

“เจ้าสัวชัย” ให้มุมมองถึง กรณีกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ประสบปัญหาสภาพคล่อง จากที่มีเจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตรวม 6 แสนราย มูลหนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท ว่า ตอนนี้การแก้ไขปัญหาคงมีทางเดียวคือ การปรับเพิ่มเงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัยเข้ากองทุนถามว่ายินยอมจะจ่ายหรือไม่ ต้องตอบว่า ไม่มีทางเลือก แต่เบื้องต้นคาดว่าภาคธุรกิจคงต้องคัดค้านก่อน

ส่วนกรณีที่ว่าถ้าบริษัทประกันต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มจะส่งผ่านไปยังผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงขึ้นหรือไม่นั้น “เจ้าสัวชัย” กล่าวว่า อาจจะไม่ เพราะในตลาดมีการแข่งขันอยู่แล้ว ถ้าบริษัทไหนเพิ่มเบี้ยประกัน ก็จะเห็นว่ามีบริษัทอื่นที่ยอมหั่นราคาแข่งลงมา

ปรับพอร์ตชะลอลงทุนหุ้น

สำหรับภาพการบริหารจัดการพอร์ตลงทุน “เจ้าสัวชัย” กล่าวว่า ปีนี้ตั้งเป้าที่จะรักษาผลตอบแทนการลงทุนไว้ที่ระดับ 2.7% จากปี 2566 บริษัทกรุงเทพประกันภัย มีมูลค่าพอร์ตลงทุน (ตามราคาตลาด) อยู่ที่ 5.29 หมื่นล้านบาท มีผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 2.7% แต่หากประเมินมูลค่าพอร์ตลงทุน (ตามราคาทุน) จะอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน 5% โดยแบ่งออกเป็นพอร์ตลงทุน 1.ตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล, หุ้นกู้เอกชน, เงินฝาก) สัดส่วน 65% และ 2.ตลาดหุ้น สัดส่วน 35%

โดยเวลานี้ยังไม่มีนโยบายเข้าไปลงทุนหุ้นไทย เพราะดัชนี SET ตกลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จะรอจังหวะที่ดัชนีหล่นลงไปอีกประมาณ 100 จุด หรือแถวระดับ 1,270-1,280 จุด ถึงจะเข้าไปลงทุนใหม่ ระหว่างนี้ก็อาจจะหันไปลงทุนในพันธบัตร เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรปรับตัวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ซึ่งเมื่อพอร์ตเงินฝากครบกำหนด ก็ได้โยกเงินไปลงทุนพันธบัตรไปแล้ว และช่วงที่เหลือของปีจะขึ้นอยู่กับทิศทางดอกเบี้ยของเงินฝากกับพันธบัตร ซึ่งเป็นที่ทราบว่าตอนนี้
ดอกเบี้ยเป็นขาลง ดังนั้นภายใต้สมมุติฐานเหล่านี้ บริษัทจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวมากขึ้น หรืออายุ 3-5 ปี

“ประเมินปี 2567-2568 เศรษฐกิจไทยคงจะยังซบเซาอยู่ ทำให้การเลือกลงทุนจะมีปัญหามาก เพราะยังไม่มั่นใจว่าอนาคตเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าปีนี้ GDP ของไทยจะขยายตัว 2.7-2.8% ซึ่งต่ำเมื่อเทียบกับอดีต และยังประเมิน
ไม่ออกว่าธุรกิจประเภทไหนจะเติบโตเด่น ดังนั้นเวลานี้ชะลอลงทุนก่อน เพื่อรอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจ” เจ้าสัวชัยกล่าว

สำหรับเป้าหมายปี 2567 ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวม 32,500 ล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นเบี้ยประกันรถยนต์ 13,600 ล้านบาท ส่วนนี้มาจากเบี้ยประกันรถอีวี 350 ล้านบาท (จำนวน 14,000 คัน) และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถ (nonmotor) อีก 18,900 ล้านบาท