แช่แข็งระดมทุนไอซีโอ3เดือน รัฐคุมเข้มทุกขั้นตอน กันตุ๋นปชช.-ฟอกเงิน

ก.ล.ต.คาดเริ่มออก ICO ได้เร็วสุดปลายไตรมาส 3 เบื้องต้นเตรียมออกประกาศเกณฑ์ปฏิบัติในสิ้นมิ.ย.นี้ แจงกระบวนการขอระดมทุนต้องผ่านผู้ให้บริการระบบ จากนั้นชงให้ ก.ล.ต. อนุญาตใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 เดือน เปิดทางเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มเป็น 7 สกุล จากเดิมให้แค่ 2 สกุล

นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. ได้พิจารณาผลการรับฟังความคิดเห็น เรื่อง แนวทางการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแนวทางกำกับดูแลการออกICO (initial coin offering) และการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะออกประกาศที่เกี่ยวข้องได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่จะออกมานี้จะช่วยให้มีความชัดเจน และช่วยลดโอกาสที่ประชาชนจะถูกหลอกลวงหรือถูกเอาเปรียบ รวมทั้งช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือในการติดตามและป้องปรามการฟอกเงิน

โดยผู้ที่จะออก ICO ต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายไทยที่มีแผนธุรกิจชัดเจน มีงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบ ข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลต้องชัดเจน มีการเปิดเผยชุดรหัสทางอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกระบวนการ ICO (ซอร์ซโค้ด)มีหนังสือชี้ชวน และมีการรายงานความคืบหน้าของโครงการและการใช้เงินเป็นระยะ โดยผู้ที่ต้องการระดมทุนโดยออก ICOเสนอขายแก่ประชาชนนั้น จะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งคาดว่าจะมีการออก ICO ระดมทุนได้ครั้งแรกในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 ปีนี้

“หลังจาก ก.ล.ต.ประกาศเกณฑ์ออกไป ผู้ที่จะดำเนินการออก ICO จะต้องผ่านการคัดกรองจาก ICO portal (ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล)ที่จะทำหน้าที่คล้ายกับ FA (ที่ปรึกษาทางการเงิน) ในการตรวจสอบโครงการ โดยจะคัดกรองโครงการและทำความรู้จักตัวตนและสถานะผู้ลงทุน ตลอดจนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนและหลังจากผ่านการคัดกรองจาก ICO portal เรียบร้อยแล้ว ก็อาจต้องใช้ระยะเวลาราว 1-2 เดือน ในกระบวนการตรวจสอบ ก่อนจะได้รับอนุญาต”

นางทิพยสุดากล่าวว่า การออก ICO แต่ละครั้งสามารถขายให้ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ กิจการร่วมลงทุนได้ไม่จำกัดและขายผู้ลงทุนรายย่อยได้รายละไม่เกิน 3 แสนบาท นอกจากนี้ วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อย ต้องไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกิน 70% ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด

สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องทำผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาต โดยเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินบาท หรือคริปโทเคอร์เรนซีในรายชื่อที่กำหนดเท่านั้น โดย ก.ล.ต.ได้กำหนดสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มเป็น 7 สกุล ประกอบด้วย bitcoin, bitcoin cash, ethereum, ethereum classic, litecoin, ripple และ stellar จากเดิมมีแค่ bitcoin และ ethereum เท่านั้น

“อย่างไรก็ตาม การซื้อขายทั้ง 7 สกุลเงินดิจิทัลนี้ จะเป็นแค่การซื้อขายเท่านั้น ไม่ได้มีการการันตีว่าคริปโทเคอร์เรนซีดังกล่าว จะสามารถนำมาชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” นางทิพยสุดากล่าว