ค่ายใหญ่แข่งดุประกันสุขภาพชูออกกำลังกายลดเบี้ย

ประกันชีวิตค่ายใหญ่แข่งชู “นวัตกรรมสุขภาพ” ปลุกตลาดประกันสุขภาพแข่งดุ “เอไอเอ” เผยต้นปีེ อัพเกรด “แอปไวทัลลิตี้” เวอร์ชั่นใหม่ หนุนลูกค้าใช้งานง่ายขึ้น ด้าน “กรุงเทพประกันชีวิต” เจรจารีอินชัวเรอร์ 1-2 ราย และโมบายแอปพลิเคชั่น 2-3 แห่ง ปั้นฟีเจอร์เริ่มปีཻ ฟาก “ไทยประกันชีวิต” ยื่นขอขายโปรดักต์สุขภาพใหม่ต่อ คปภ. พร้อมโหมพัฒนาแอป-ระบบหลังบ้าน บุกตลาดปีหน้า ส่วน “เมืองไทยประกันชีวิต” แย้ม “เบาหวานเบทเทอร์แคร์” ฟีดแบ็กดี ลดความถี่ลูกค้าเข้าโรงพยาบาล

นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท เอไอเอ ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้จะเห็นตลาดประกันสุขภาพมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากทุกบริษัทประกันต่างเห็นเทรนด์นี้กำลังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นหลายรายพยายามผลักดันนวัตกรรมทางด้านสุขภาพใหม่ ๆ ออกมาเสนอผู้บริโภค ถือเป็นสิ่งที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

โดยในช่วงเดือน พ.ย. 61 บริษัทก็จะเริ่มโปรโมตโครงการ “เอไอเอไวทัลลิตี้” กลับมาอีกครั้ง โดยจัดกิจกรรมร่วมกับแบรนด์แอมบาสซาเดอร์คนล่าสุดของเอไอเออย่าง “เดวิด เบ็คแฮม” ที่จะกลับมาเยือนประเทศไทย เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดสมาชิกในโครงการจากปัจจุบัน 2 แสนราย เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 แสนรายภายในสิ้นปีนี้ และขยับสัดส่วนพอร์ตประกันสุขภาพที่อยู่ 40% ให้เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ในช่วงไตรมาส 1/62 บริษัทมีแผนปรับปรุงแอปพลิเคชั่นเอไอเอไวทัลลิตี้เวอร์ชั่นใหม่ ให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้มีการปรับโปรดักต์ในโครงการเอไอเอไวทัลลิตี้ให้ลูกค้าสามารถซื้อได้ง่ายขึ้นไปแล้ว ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับโครงการนี้เพิ่มขึ้น

“เราใช้งบฯลงทุนเกิน 10 ล้านบาท พัฒนาโครงการไวทัลลิตี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเราพยายามทำทุกอย่างให้ง่ายสอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสิ่งแรกที่เราจะทำ คือ การเชื่อมอุปกรณ์ (sync device) ให้ข้อมูลออกกำลังกายของลูกค้าเชื่อมต่อกับแอป เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยเพิ่มคะแนนขยับสถานะและหนุนให้ลูกค้าได้รับส่วนลดเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น และหากรักษาสถานะแพลตทินัมได้ก็จะรับส่วนลดเบี้ยเพิ่มขึ้น 2% ทุกปี” นายเอกรัตน์กล่าว

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์นวัตกรรมสุขภาพมาแรง เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาสนใจซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ทำให้ลอสเรโชไม่สูงและธุรกิจมีความยั่งยืน ประกอบกับเป็นส่วนช่วยผลักดันพอร์ตประกันสุขภาพของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 30% ได้ภายในปีོ ซึ่งขณะนี้บริษัทพยายามคัดเลือกพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแพลตฟอร์มเข้ามาช่วย เพราะเห็นว่าไม่คุ้มหากบริษัทลงทุนเอง

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับรีอินชัวเรอร์ 1-2 ราย และบริษัทโมบายแอปพลิเคชั่นอีก 2-3 แห่ง บริษัทจะเลือกฟีเจอร์ที่ทำได้ง่าย เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสะดวกมากที่สุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาหลอมรวมอยู่ภายในแอปพลิเคชั่นใหม่ BLA Happy Life ที่ปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงข้อมูลประกันกลุ่ม และลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ของตัวเองได้ เช่น ประวัติและสถานะการเคลม และตรวจสอบสิทธิประโยชน์

“ในสเต็ปแรกเราอาจจะมอนิเตอร์เรื่องสุขภาพก่อน และหากลงตัวด้านพาร์ตเนอร์ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาโปรดักต์สักระยะ เพราะฉะนั้น ในปีหน้าภาพที่เกิดขึ้นคงเป็นเรื่องของไอเดีย ซึ่งคาดว่าภายในปีཻ น่าจะเห็นเป็นภาพออกมาชัดแน่นอน” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

นายอังกูร ศรีกัลยาณบุตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยประกันชีวิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังวางแผนพัฒนาระบบหลังบ้านเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเชื่อมต่อ (plug-in) กับโปรดักต์ประกันสุขภาพ เพื่อสอดรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นภายในปีེ โดยปัจจุบันอยู่ในกระบวนการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ส่วนด้านโปรดักต์ทางคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้มีการยื่นขออนุมัติ คปภ.ไปแล้ว

“ระหว่างนี้เราจะต้องให้ความรู้กับตัวแทนฝ่ายขายของเราก่อน เพื่อให้เขาหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ก่อนออกไปแนะนำคนอื่น ๆ ได้ดีมากขึ้น” นายอังกูรกล่าว

นายปราโมทย์ ศักดิ์กำจร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์นี้เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจที่ทำให้บริษัทพัฒนาแบบประกันเบาหวานเบทเทอร์แคร์ออกมา ซึ่งค่อนข้างจะเห็นเป็นรูปธรรม หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี เบี้ยประกันที่จ่ายก็จะลดลงสูงสุดถึง 49% ถือเป็นสิ่งที่ลูกค้าสามารถควบคุมค่าเบี้ยได้เองจากการหันมาใส่ใจสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันถือว่าแบบประกันนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองภายใต้ sand box ของ คปภ. จึงยังไม่สามารถพูดถึงผลโดยรวมได้ว่าเป็นอย่างไร

“เราเชื่อว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรมผู้ใช้บริการให้มีแรงผลักดันในการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น หากทุกบริษัทประกันมีส่วนช่วยกระตุ้นในเรื่องนี้ แม้ว่าค่ารักษาพยาบาลจะแพง แต่เราเชื่อว่าความถี่ในการเข้าโรงพยาบาลจะลดลงได้” นายปราโมทย์กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า สิ้นปีนี้บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนพอร์ตความคุ้มครองชีวิตมาอยู่ที่ 70% จากเดิมที่ 67% และปรับสัดส่วนประกันสุขภาพขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 30% จากเดิมที่อยู่ที่ 25% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มีความสมเหตุสมผลโดยเฉพาะแบบประกันสุขภาพที่มีการเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการตลาด