กสิกรฯคาดออกหุ้นกู้ปีนี้ 1.74 แสนล้าน เผย 4 กลุ่มหุ้นกู้น่าจับตามอง

ธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย
กสิกรไทยคาดออกหุ้นกู้ปีนี้ 1.74 แสนล้านบาท เผย 4 กลุ่มหุ้นกู้ที่น่าจับตา ทั้งอสังหาฯ อาหารและเครื่องอื่ม ธุรกิจเกษตร และโทรคมนาคม ชี้ค่าเงินบาทแข็งค่าตามฤดูกาลท่องเที่ยว

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าปี 2562 ธนาคารคาดว่าจะมีมูลค่ารวมของการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวอยู่ที่ราว 1.74 ล้านบาท หรือส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า 20% เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ จากทั้งปัจจัยการครบกำหนดไถ่ถอนของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวราว 5 แสนล้านบาท ทั้งยังมีความต้องการระดมทุนใหม่จากผู้ออกตราสารหนี้อีกด้วย โดยคาดว่าในปีนี้ตลาดจะมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวอยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตประมาณ 3-4% จากมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ราว 8.4 แสนล้านบาท (รวมตราสารหนี้ที่ออกและเสนอขายโดยผู้ออกตราสารหนี้เอง) แต่จะมีความท้าทายในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นจากความผันผวนของสภาพตลาด

“หุ้นกู้ของปีนี้ กลุ่มที่คาดว่าจะจัดจำหน่ายเยอะ ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มธุรกิจการเกษตร และกลุ่มโทรคมนาคม และคาดว่าปีนี้ต่างชาติจะถือครองตราสารหนี้แตะ 1 ล้านล้านบาทได้ จากปี 61 ที่มีต่างชาติถือครองอยู่ 9.7 แสนล้านบาท” นายธิติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ธนาคารยังคงเป็นผู้นำทั้งทางด้านการค้าตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนในตลาดรองและด้านการออกและการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยมีมูลค่ารวมของการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 173,288.09 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 22.53% (ไม่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเสนอขายโดยผู้ออกตราสารหนี้เอง)

นอกจากนี้ ในปี 63 จะมีการใช้มาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ IFRS 9 และ IFRS16 โดย IFRS9 จะกำหนดให้มีการ Mark to Market อนุพันธ์ทางการเงิน ทำให้เกิดความผันผวนในงบกำไรขาดทุน ในขณะที่ IFRS16 เปลี่ยนวิธีการบันทึกสัญญาเช่าดำเนินงานจากค่าใช้จ่ายเป็น Finance Lease Liability ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของบริษัท ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยได้จัดเตรียมทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำแนะนำทั้งการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงและผลกระทบทางบัญชี (Hedge Accounting) ไว้พร้อมบริการลูกค้าแล้ว

สำหรับเรื่องค่าเงินบาทมองว่าในไตรมาสแรกปี 62 ค่าเงินจะมีทิศทางแข็งค่าใกล้ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมาจากปัจจัยหลักด้านฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ต่างชาติเข้ามาไทยจำนวนมากที่จะส่งผลต่อปริมาณเงินไหลเข้าไทย ทั้งยังมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เพียงครั้งเดียวในช่วงปลายปี ทำให้ดอกเบี้ยไทยอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ไทยยังมีสถานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูง

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงจนคาดว่าจะแตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 62 เนื่องจากหมดฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว และช่วงกลางปียังเป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออก นอกจากนี้ปัจจัยความไม่แน่นอนของต่างประเทศอย่างสงครามการค้า, Brexit และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาท

ในขณะที่ด้านของปัจจัยการเลือกตั้งที่จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทหรือไม่นั้น มองว่าหลังจากมีเหตุการณ์ต่างๆในตลาดเกิดขึ้นนั้น คงต้องให้เวลาตลาดรับรู้ ซึ่งตอนนี้คงยังไม่มีข้อมูลพอที่จะสรุป และคงเร็วไปที่จะสรุป ต้องรอดูสถานการณ์หลังการเลือกตั้งว่าจะส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!