คลังขยายศูนย์ราชการโซนC จ่อกู้1.5พันล้าน เร่งMDคนใหม่เซ็นสัญญา

(แฟ้มภาพ) ศูนย์ราชการโซน C
คลังเตรียมกู้ 1.5 พันล้านบาท ตอกเข็มศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะโซน C 3 หมื่นล้านบาท อธิบดีธนารักษ์มอบนโยบาย “นาฬิกอติภัค” เอ็มดี ธพส.คนใหม่ เร่งเซ็นสัญญาก่อสร้างกลางปีนี้ พร้อมสั่งเตรียมรับมอบศูนย์ประชุมนานาชาติฯ เชียงใหม่ มาบริหารหลังยุบเลิก “พิงคนคร”

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าขณะนี้ได้มอบนโยบายให้ พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) คนใหม่ เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C อย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาต่าง ๆ ได้โดยเร็ว ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งได้บรรจุแผนการกู้เงินของ ธพส. จำนวน 1,500 ล้านบาท สำหรับปีนี้ไว้แล้ว

อำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์

“ตอนนี้ได้มีการเปิดให้ยื่นซองเสนอตัวเป็นผู้บริหารโครงการ และจะเปิดให้ยื่นซองเป็นที่ปรึกษาออกแบบโครงการด้วย โดยทั้งสองส่วนจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดหาผู้ก่อสร้างในเดือน มิ.ย. และคาดว่าจะสามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้ในช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งตอนนี้ ธพส.ได้เอ็มดีคนใหม่เข้ามาแล้ว เมื่อวันที่1 มี.ค.ที่ผ่านมา ผมก็ให้นโยบายให้เขาเดินหน้าโครงการนี้เต็มที่ เพราะโครงการนี้มีมูลค่า 30,000 ล้านบาท ก็จะเป็นอีกหนึ่งโครงการลงทุนของรัฐที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้” นายอำนวยกล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์ราชการฯโซน C อยู่บนพื้นที่ 61-2-59 ไร่ หรือประมาณ 130,635 ตารางเมตร โดยแผนการระดมทุน 30,000 ล้านบาท แบ่งแนวทางการระดมทุนออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงดำเนินการก่อสร้าง จะใช้วิธีการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ โดยให้ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม ซึ่งกำหนดระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี เบิกจ่ายภายใน 4 ปี

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงดำเนินการหลังก่อสร้างเสร็จ รัฐจัดสรรงบประมาณผูกพันค่าเช่า 30 ปี ให้กรมธนารักษ์นำไปชำระเป็นค่าเช่าพื้นที่ในโครงการให้ ธพส. จากนั้น ธพส.จะนำสิทธิการรับเงินค่าเช่าไปใช้ระดมทุน เพื่อชำระคืนเงินกู้ระยะที่ 1 และเป็นค่าใช้จ่ายบริหารโครงการ ทั้งนี้ อาจจะใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือการออกหุ้นกู้ ขึ้นกับความเหมาะสม

นายอำนวยกล่าวอีกว่า ยังมีอีกเรื่องที่ได้มอบนโยบายแก่กรรมการผู้จัดการ ธพส.คนใหม่ นั่นก็คือ การเตรียมพร้อมเพื่อรับมอบศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ มาอยู่ภายใต้การดูแลของ ธพส. เมื่อพระราชกฤษฎีกายุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) มีผลบังคับใช้ ซึ่งหลังจากนั้น ธพส.จะต้องบริหารให้มีผลกำไร จากที่ผ่านมาขาดทุนเฉลี่ยปีละ 80 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปอุดหนุนทุกปี

“ธพส.ต้องรับศูนย์ประชุมมาบริหาร ส่วนไนท์ซาฟารีให้ไปอยู่กับองค์การสวนสัตว์ โดยผมก็ได้ให้นโยบายกรรมการผู้จัดการ ธพส.คนใหม่ไปว่า เป้าหมายในการบริหารก็คือ หนึ่ง ต้องสนับสนุนท้องถิ่น และสอง ต้องบริหารให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ คือต้องมีกำไร ไม่ขาดทุน” นายอำนวยกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!