สรรพากรแท็กทีมกรมบังคับคดี เชื่อมข้อมูลบุคคลล้มละลายแบบเรียลไทม์ ป้องกันคืนภาษีพลาดเรียกคืนไม่ได้

สรรพากรแท็กทีมกรมบังคับคดีเชื่อมข้อมูลบุคคลล้มละลายแบบเรียลไทม์ ป้องกันคืนภาษีพลาดเรียกคืนไม่ได้-ช่วยหนุนกระบวนการเร่งรัดหนี้ภาษีอากรได้เร็วขึ้น พร้อมไฟเขียวกรมบังคับคดีส่งค่าอากรแสตมป์ให้สรรพากรได้โดยตรงตกปีละ 200 ล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. กรมสรรพากร ยังได้ลงนามกับกรมบังคับคดี ในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจัดเก็บอากรแสตมป์แทนกรมสรรพากร สำหรับตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ซึ่งมีเฉลี่ยปีละประมาณ 200 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2561 มีจำนวน 242 ล้านบาท) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้ล้มละลาย

“ข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับนี้ จะทำให้ประสิทธิภาพของภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก ช่วยลดต้นทุนต่างๆ ได้มากมาย อย่างการให้กรมบังคับคดีนำส่งค่าอากรแสตมป์โดยตรงให้กรมสรรพากร จากเดิมที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ส่วนการเชื่อมข้อมูลบุคคลล้มละลาย ถ้าไม่เชื่อมข้อมูลกันทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การคืนอากร ถ้ากรมสรรพากรไม่รู้ว่า บุคคลนั้นศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลายก็อาจจะคืนเงินให้ไป รวมถึงการเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้าง พอไม่รู้ว่าบุคคลนั้นศาลมีคำสั่ง กรมก็ไม่สามารถไปเร่งรัดได้ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน ถ้าไม่ทันกรมก็ได้รับผลกระทบ” นายเอกนิติกล่าว

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า กรมบังคับคดีมีด้วยกัน 110 สาขาทั่วประเทศ โดยการที่สามารถส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรได้โดยตรง จะทำให้ไม่เกิดปัญหาส่งอากรล่าช้า ซึ่งการทำงานของกรมก็จะรวดเร็วขึ้น ลดต้นทุนด้านเอกสาร บุคลากร และสามารถให้เจ้าหน้าที่มีเวลาไปทำงานที่จำเป็นด้านอื่นๆ ได้ด้วย ขณะที่การเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลาย จะเป็นการให้ความคุ้มครองบุคคลทั่วไปในเรื่องการทำนิติกรรมกับบุคคลที่ล้มละลาย เพราะจะถือว่าเป็นโมฆะ

“การเชื่อมโยงจะเป็นเรียลไทม์ ก็จะทำให้ตรวจสอบข้อมูลได้เร็วขึ้น เพราะถ้าไปจ่ายเงินคืนให้บุคคลที่ล้มละลายไปแล้วก็ไปเรียกคืนเขาไม่ได้ ขณะเดียวกันถ้ากรมสรรพากรทราบว่า บุคคลใดเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก็สามารถมายื่นขอรับชำระหนี้ภาษีค้างได้เร็ว” นางสาวรื่นวดีกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันคดีที่มีบุคคลถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เฉลี่ยปีละ 4,000-5,000 ราย โดยมูลค่าทรัพย์ที่ขายทอดตลาดอยู่ที่ประมาณปีละ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งกรมบังคับคดีขายทรัพย์ทอดตลาดได้เฉลี่ยปีละ 7 หมื่นล้าน

“แม้จะถูกพิพากษาพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือแม้แต่ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ทางกระทรวงยุติธรรมก็มีกระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอม เพื่อให้โอกาสประชาชน โดยเฉพาะที่เป็นลูกหนี้รายย่อย” อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าว