“วิรไท” กล่อมลมใต้ปีก ศก.ไทย ค้ำยันภาวะโลกผันผวน-ตั้งรัฐบาลใหม่

ในงานสัมมนาของธนาคารกสิกรไทย (KBank) จัดขึ้นให้แก่กลุ่มลูกค้าวิสดอมของธนาคาร เพื่อวางแผนบริหารเงินลงทุนฝ่าความผันผวนที่เกิดขึ้นเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยในปีนี้ ในหัวข้อเรื่อง “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย”

โดย นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ KBank ได้กล่าวเปิดงานว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือการนำข้อมูลหรือความรู้ในทิศทางเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่จะมีผลกระทบกับการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจ และสามารถจะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินธุรกิจหรือตัดสินใจต่าง ๆ ได้ โดยช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้จะมีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่พูดถึงเยอะภายนอกประเทศ 2 เรื่อง ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบมาที่ผู้ประกอบการไทย และประเด็น Brexit (อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป) เป็นไปในรูปแบบไหน จะได้ทราบกันในวันที่ 12 เม.ย.นี้

“อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ การเลือกตั้งในช่วงระหว่างการรอจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะเป็นการส่งผลให้การตัดสินใจแตกต่างกันไป” นายปรีดีกล่าว

ปรีดี ดาวฉาย – ดร.วิรไท สันติประภพ

ผู้ว่าการ ธปท.ย้ำเศรษฐกิจโลกชะลอ

ต่อด้วยช่วงสำคัญที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมงานสัมมนามาก คือ สนทนากับผู้ว่าการ ธปท. “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย ดร.วิรไทได้ฉายภาพว่า ถ้ามองภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ก็จะได้ยินข่าวที่ไม่ค่อยดี เพราะว่าตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ โลกเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง ต้องมองในภาพใหญ่เพราะอาจจะทำให้เกิดความกังวลได้ โดยเศรษฐกิจยุโรปยังมีความเสี่ยงชะลอตัวลง ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐมองผ่านตลาดแรงงานก็ยังดีอยู่ อัตราว่างงานต่ำ ขณะที่เรื่องของการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมก็อาจกระทบหลายปัจจัยจากทิศทางการค้าและมาตรฐานใหม่ ๆ ที่ออกมา อย่างประเทศเยอรมนีมีมาตรฐานเรื่องรถยนต์ที่ออกใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องชะลอการผลิตลงด้วย อีกด้านเป็นผลข้างเคียงจากสงครามการค้าจากสหรัฐ ทุกคนคาดว่าจะมีการกีดกันการค้ามากขึ้นในไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกอบการก็สั่งออร์เดอร์ล่วงหน้าช่วงปลายปีที่แล้วกันเยอะ ทำให้การผลิตในปีนี้ชะลอตัวลงในหลายอุตสาหกรรม ส่วนที่ใกล้ตัวกับไทยและส่งผลกระทบมากกว่า คือเศรษฐกิจจีน ซึ่งตกเป็นเป้าของสงครามนี้ทำให้ยอดส่งออกของจีนชะลอลงหลายประเภท ก็หวังว่าการเจรจาการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้จะมีผลทางบวกได้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนก็ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดีอยู่ แม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และอีกเรื่องที่สำคัญกว่า คือ จีนมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภายในของสถาบันการเงิน เพื่อลดการพึ่งพิงภาคธนาคาร shadow banking ที่ผ่านมา มีกิจกรรมทางการเงินที่ไม่ได้ผ่านระบบแบงก์พาณิชย์ ทางการจีนก็พยายามควบคุมอยู่ และให้ย้ายเข้าสู่ระบบการเงินหลักมากขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในหลายอุตสาหกรรม หรือกระทบราคาบ้าน เพราะ shadow banking จะขอสินเชื่อได้ง่ายกว่ากู้สถาบันการเงินหลัก

เกาะติด 2 ตัว-ค่าเงินผันผวนสูงขึ้น

“เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจโลก 2 ตัวที่ต้องติดตาม คือ การกีดกันการค้าที่ไม่รู้จะจบยังไง และจีนเปลี่ยนโครงสร้างภายใน ส่วนเรื่อง Brexit จะส่งผลต่อตลาดการเงินโลก สถานการณ์ต่าง ๆ ในโลก ขณะนี้ไม่แน่นอน ส่งผลต่อค่าเงิน ราคาหุ้น ราคาสินทรัพย์ โดยโลกข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศหลัก ๆ จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร และจะมีนโยบายใหม่อะไรออกมาที่จะกระทบต่อค่าเงินทั่วโลก ล้วนมีผลทันทีต่อมุมมองของค่าเงินสกุลหลักๆ อย่างดอลลาร์ ถือเป็นเรื่องควบคุมได้ยากด้วย และก็กระทบถึงค่าเงินบาทและค่าเงินในสกุลตลาดเกิดใหม่แน่นอน

“ถ้าดูต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทก็เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับสกุลเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ อย่างเงินสกุลอินโดนีเซีย ซึ่งโจทย์ใหญ่ของไทย คือ ทำอย่างไรให้เราบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น เพราะความผันผวนมีสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อผู้ประกอบการ ตอนนี้มีโปรดักต์ ออปชั่นช่วยชาติ (ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) ที่รัฐให้เงินซื้อป้องกันความเสี่ยงค่าเงินและให้ความรู้ด้วย ส่วน ธปท.ก็สนับสนุนให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นซึ่ง ธปท.ได้จับมือกับหลายสกุลสำคัญ ๆ กับคู่ค้าไทยแล้ว และล่าสุด เงินหยวนของจีนสามารถทำธุรกรรมซื้อขายสกุล “บาท-หยวน” ได้ทั่วประเทศจีนแล้ว นอกจากนี้มีมาเลเซีย เป็นต้น

เรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

ซึ่งรอบการประชุม กนง.เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา (ก่อนเลือกตั้ง) มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% เนื่องจากต้องการรอประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อน เพราะ กนง.ให้ความสำคัญกับ “data dependence” ซึ่งจะพิจารณาทั้ง 3 ประเด็น ได้แก่ กรอบเงินเฟ้อ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบทางการเงิน เพื่อพิจารณาการชั่งน้ำหนักการปรับดอกเบี้ยในแต่ละครั้งในที่ประชุม ดังนั้น การคงดอกเบี้ยครั้งนี้เรียกว่าเป็นการ pause (หยุดเรื่องพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย) ไปก่อน

พร้อมยืนยันการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นที่ต่ำมาก และยังมีเงินไหลออกช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 62 อยู่ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าก็เนื่องมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงของไทย

“สิ่งที่เป็นลมใต้ปีกของเศรษฐกิจไทย คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมา 5-6 ปี มูลค่าค่อนข้างสูงเกินดุล 3.8 พันล้านดอลลาร์ และปีนี้คาดจะเกินดุล 3.4-3.5 พันล้านดอลลาร์ ภาคท่องเที่ยวก็ดีขึ้นค่อนข้างมากที่จะเป็นรายได้เข้าประเทศ” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ศก.ไทยรวม ๆ ยังโตแต่ชนบทฝืด

ดังนั้น จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวต่อไปได้ภายใต้คาดการณ์เติบโต 3.8% ในปีนี้ แต่ก็ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมามีหลายภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภาคชนบทที่ราคาสินค้าภาคเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อลดลง บวกกับหนี้ภาคครัวเรือนที่มากขึ้นซึ่งได้ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะจะส่งผลทั้งระดับจุลภาคที่สภาวะทางการเงินที่เปราะบาง อาจทำให้ประชาชนไปกู้หนี้นอกระบบได้

ดังนั้น สิ่งที่ ธปท.ได้เข้าไปกำกับสถาบันการเงินมากขึ้น ที่ผ่านมาได้ทำหลายอย่างที่ตอบโจทย์หนี้ครัวเรือน ทั้งการออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อบุคคลไม่ให้ก่อหนี้ผ่านบัตรต่าง ๆ เกินตัว การคุมไม่ให้สถาบันการเงินหย่อนยานในการปล่อยสินเชื่อ เพราะช่วงที่ผ่านมาเห็นมาตรฐานการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หย่อนยาน แข่งขันเป็นการที่เกินพอดี เช่น สินเชื่อ เงินทอน และถ้าปล่อยให้เกิดต่อไปทำให้ประชาชนที่มาขอสินเชื่อได้รับผลกระทบในระยะยาวได้ ซึ่งเกณฑ์ใหม่ได้เริ่มวันที่ 1 เม.ย. 62 แล้ว

ธปท.ตรวจเข้มปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ

นอกจากนี้ ในด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ธปท.ได้มีการไปตรวจสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพื่อดูมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อให้ระมัดระวังและรัดกุมมากขึ้น

“เราไม่ต้องการให้เป็นสินเชื่อเงินทอนที่อัพราคาขึ้นมาตอนขอสินเชื่อ หรือปล่อยสินเชื่อโดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้เป็นการสร้างปัญหาในระยะยาวต่อไปได้โดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้ อยู่ในช่วงประเมินสภาวะหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ในการปล่อยสินเชื่อว่าหย่อนกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่ ถ้าหย่อนก็จะมีมาตรฐานต่าง ๆ ออกมา

ลุ้นจัดตั้งรัฐบาลใหม่เร็ว

ผู้ว่าการ “วิรไท” ให้มุมมองถึง “การจัดตั้งรัฐบาลใหม่” ที่ยังมีความไม่แน่นอนว่า ถ้าจัดตั้งได้เร็วจะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น และทิศทางการขยายตัวของภาคเอกชนที่ดำเนินต่อเนื่องมาก็จะไม่สะดุด จากที่เห็นนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก ทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังคงต่อเนื่อง เชื่อว่าจะไม่ได้กระทบอะไร เพราะหลายโครงการได้ประมูลแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงที่มีความไม่ชัดเจนในเรื่องการเมืองหรือแนวนโยบายทั้งในและต่างประเทศ ก็จะเห็นความผันผวนที่สูงขึ้นในเรื่องตลาดเงิน/ทุน หรืออัตราแลกเปลี่ยน แต่ช่วงที่ผ่านมาความผันผวนไม่ได้รุนแรงจนผิดปกติ และ ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีอยู่ จากการขับเคลื่อนของการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวดีขึ้นจากการลงทุนในโครงการ EEC ที่มากขึ้น ซึ่งสะท้อนจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น

“เศรษฐกิจในช่วงระหว่างจัดตั้งรัฐบาล มองว่าอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับช่วงสั้น ๆ ควรจะต้องกลับไปดูที่โครงสร้างของเศรษฐกิจ เพราะในส่วนของภาครัฐอาจจะมีสัดส่วนไม่สูงนัก ถ้าดูกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย ทั้งการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และตัวเลขการจ้างงานยังไปได้ดี การส่งออกแม้จะชะลอตัวบ้าง แต่บางธุรกิจก็มีทิศทางขยายตัว เพราะฉะนั้น เครื่องยนต์ก็ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ รัฐบาลขณะนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ ดังนั้น ถ้าเกิดมีความจำเป็นก็จะมีมาตรการ/เครื่องมือ/กลไกที่ช่วยดูแลเศรษฐกิจได้” นายวิรไทกล่าว

และนี่คือภาพสะท้อนของผู้ว่าการ ธปท.ที่มองออกมาในช่วงหลังเลือกตั้ง นับจากนี้จะต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนสูงขึ้นอย่างไร และลดความเสี่ยงการทำธุรกิจอย่างไร ก็ต้องประคองกันให้รอดผ่านไปให้ได้