ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนลดความกังวลต่อการลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐของเฟดในเดือนนี้

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/7) ที่ระดับ 30.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (9/7) ที่ระดับ 30.77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ในวันนี้ เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่าง ๆ ในขณะที่นักลงทุน ลดการคาดการณ์เกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอย่างมาก ภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 224,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 165,000 ตำแหน่ง หลังขยายตัวเพียง 72,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค.ก่อนแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อสภาคองเกรสเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.80-30.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (9/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1216/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/7) ที่ระดับ 1.1228/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้สถาบันวิจัย Sentix ของเยอรมนียังเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนดิ่งลงในเดือน ก.ค. แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2557 โดยปรับตัวลงสู่ระดับ -5.8 จากระดับ -3.3 ในเดือน มิ.ย. และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ +0.1 การดิ่งลงของดัชนีได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ว่ามีสัญญาณบวกจากการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1193-1.1218 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1193/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (9/7) เปิดเผยตลาดที่ระดับ 108.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/7) ที่ระดับ 108.46/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน นอกจากนี้สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังเปิดเผยความเชื่อมั่นทางธุรกิจของชาวญี่ปุ่นที่ประกอบอาชีพที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากผู้บริโภคได้งดการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องภายหลังช่วงวันหยุดยาวถึง 10 วันติดต่อกันในเดือนก่อนหน้านั้น โดยตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า ผู้ที่มีมุมมองเป็นลบมีจำนวนมากกว่าผู้ที่มีมุมมองบวกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.70-108.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน มิ.ย. จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) (9/7) สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน พ.ค. (10/7) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 18-19 มิ.ย.(10/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (11/7) อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. (11/7) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน มิ.ย. (12/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.45/-2.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.40/-1.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ