1 ปี มหากาพย์ IFEC ก.ล.ต. เริ่มเคลียร์ซากหุ้น

ถือว่าเป็นมหากาพย์ที่ยืดเยื้อ สำหรับปัญหาความขัดแย้งภายในของทีมผู้บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ที่เกิดศึกการแย่งชิงอำนาจการบริหารภายในบริษัทกัน จนบานปลายกระทบถึงปัญหาการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในตั๋วแลกเงินระยะสั้น (ตั๋วบี/อี) และหุ้นกู้ที่ปูดขึ้นตามมาจำนวนมาก

ขณะที่ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ “หมอวิชัย” หรือ นายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ในฐานะประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ IFEC ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เกี่ยวกับกรณี “หมอวิชัย” กระทำทุจริตโดยแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น เนื่องมาจากกรณีที่หมอวิชัย เป็นประธานในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 60 และการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการใช้วิธีการลงคะแนนเสียงแบบสะสม (Cumulative Voting) เพื่อเลือกตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่ว่างไป ทั้งที่รู้ว่าข้อบังคับของบริษัท “มิได้” กำหนดให้สามารถกระทำได้

การกล่าวโทษกรณีดังกล่าว ได้ส่งผลให้นายวิชัยเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศของ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของ IFEC ได้ต่อไป นั่นคือ นายวิชัย “หลุด” จากตำแหน่งต่าง ๆ ใน IFEC โดยปริยาย

ชนวนเหตุของ IFEC เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา หลังจาก “เสี่ยอ๋า” นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารและกรรมการบริษัท เกิดความขัดแย้งภายในกับหมอวิชัย จนเทขายหุ้นออกมาจำนวนมาก กดดันราคาหุ้น IFEC ร่วง และตามมาด้วยการประกาศลาออกของเสี่ยอ๋า พร้อม ๆ กับมีการทยอยลาออกของกรรมการอีกหลายคน ตามมาด้วยปัญหาการดำเนินธุรกิจและสภาพคล่องของ IFEC เริ่มออกอาการสะดุดจนเห็น “น้ำลดตอผุด”

สัญญาณลางร้ายชัดเจนขึ้นช่วงปลาย ธ.ค. 2559 เมื่อ IFEC ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท สร้างความตื่นตระหนกทั่วตลาดทุน จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งบริษัทเร่งชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมขึ้นเครื่องหมาย SP (ห้ามการซื้อขายชั่วคราว) หุ้น IFEC และปูดอีกครั้งในช่วงต้นปี 2560 IFEC เบี้ยวหนี้ตั๋วบี/อีราว 200 ล้านบาท ของ บลจ.โซลาริส

ซึ่งผิดนัดชำระหนี้ครั้งที่สองต่อจากหนแรกไม่นาน และนับจากนั้นมา ปัญหาฐานะการเงินของ IFEC ก็ทวีความรุนแรงชัดเจนขึ้น (ดูตาราง) และปัญหาผิดนัดชำระหนี้ก็เกิดเป็นโดมิโนภาระหนี้ตั๋วบี/อีของ IFEC ที่ต้องชำระมีมูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท และยังมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือน พ.ย. 60 อีกมูลค่า 3,000 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่ากว่า 6,500 ล้านบาท

IFEC เบี้ยวหนี้ ได้สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนเป็นวงกว้างในตลาดตั๋วบี/อี ของไทย ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริหารใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เพราะเงินที่ได้จากการระดมทุนในตั๋วบี/อี ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น ถูกนำไปลงทุนซื้อกิจการโรงแรมดาราเทวี ที่มีมูลหนี้ติดมาด้วย ทำให้ IFEC ต้องแบกภาระจ่ายที่หนักกว่ารายได้ที่เข้ามา

ต่อมาปมร้อน IFEC ปะทุอีกครั้ง เมื่อบริษัทประกาศจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 20 ม.ค. 60 เพื่อคัดเลือกกรรมการ IFEC ชุดใหม่ขึ้นมาบริหาร ได้ปรากฏชื่อ ผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง “ทวิช เตชะนาวากุล” กระโดดเข้ามาเสนอชื่อ “ชุดกรรมการ” ของกลุ่มตัวเอง 5 คน แทนตำแหน่งที่ว่างลง เป็นการงัดข้อสู้กับ “ชุดกรรมการ” ของหมอวิชัย ทำให้การประชุมดังกล่าวเกิดความวุ่นวาย และเกิดปัญหาการลงคะแนนเสียงในการเลือกคณะกรรมการใหม่ เนื่องจากมีบัตรลงคะแนนเสียงไม่เพียงพอ และนำมาสู่การจัดประชุม

ผู้ถือหุ้นใหม่ในวันที่ 14 ก.พ. 60 อีกครั้ง ซึ่งผลปรากฏว่ามีการลงมติเลือกบอร์ดใหม่ 7 คน ซึ่งมีตัวแทนจากฝั่ง “ทวิช” จำนวน 5 คน และ “หมอวิชัย” จำนวน 2 คน โดยใช้วิธีลงคะแนนแบบสะสม ทำให้ผลประชุมรอบ 2 จบลงไม่สวย ต่อมามีการจัดประชุมสามัญฯเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการลงมติไม่รับรองการประชุมวิสามัญฯครั้งก่อนหน้า และมีการพิจารณากรรมการใหม่แทน 3 คนที่ครบวาระ โดยใช้วิธีลงคะแนนเสียงแบบสะสม ทำให้ได้กรรมการฝั่งนายทวิช 2 คน และฝั่งหมอวิชัย 1 คน ส่งผลให้กลุ่มหมอวิชัย มีเสียงในกรรมการ 5 เสียงมากกว่านายทวิชที่มี 4 เสียง จึงเกิดการประกาศลาออกของกรรมการฝั่งนายทวิช เพราะเห็นว่าวิธีการเลือกกรรมการไม่เป็นตามข้อบังคับกฎหมาย ขณะที่ความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่ายยังรุนแรงด้วยการงัดข้อมูลทั้งความผิดพลาดการบริหารและปัญหาหนี้สินที่แก้ไม่ตก

จนกระทั่งถึงวันที่ ก.ล.ต. ดำเนินการตรวจสอบเรียบร้อย และดำเนินการกล่าวโทษ “หมอวิชัย” ทำให้บทบาทของ “หมอวิชัย” ใน IFEC ถูกปิดฉากลง โดยปัจจุบัน IFEC เหลือกรรมการเพียง 1 คนเท่านั้น แม้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝั่งจะถูกปลดล็อกไปส่วนหนึ่ง ท่ามกลางปัญหาใหญ่ในด้านการบริหารธุรกิจ ที่เดินหน้าไปต่อยากลำบาก โรงแรมดาราเทวีที่เป็นสินทรัพย์ใหญ่ก็ยังจัดการไม่ได้ ขณะที่รายได้ไม่เข้า เมื่อธุรกิจขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่ยังมีภาระหนี้สินกว่า 6 พันล้านบาท ที่ยังไม่รวมดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระหนี้อีกก้อนโต นี่เป็นโจทย์ใหญ่

ขณะที่ นางเกศรา มัญชุศรี ผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า จะต้องกลับไปดูว่า คณะกรรมการ IFEC ที่เหลือจะทำงานต่อได้หรือไม่ หรือต้องสรรหาใหม่ เพื่อที่จะให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

IFEC ยังมีอีกหลายปมร้อนที่รอเคลียร์ ซึ่ง ก.ล.ต.เริ่มสางปมแล้วและยังจับตาต่อไปว่า จะแก้ปมต่าง ๆ อย่างไร ต่อไป ตลท.จะมีส่วนร่วมหรือไม่ ก่อนจะสายเกินแก้ เพื่อไม่ให้ IFEC กลายเป็นซากหุ้นอีกตัวทิ้งไว้ในตลาดหุ้นไทย