แผนสกัดเบี้ยวภาษีที่ดิน บัญชีดำห้ามโอน-ซื้อขาย

มหาดไทย-คลังแท็กทีมรับจัดเก็บภาษีที่ดิน 1 ม.ค. 63 สั่งธนารักษ์-กรมที่ดิน หนุนท้องถิ่นเต็มพิกัด ป้อนบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ 32 ล้านแปลงถึงมือ อปท. 7.7 พันแห่ง งัดไม้เด็ดสกัดค้างชำระภาษี ขึ้นบัญชีดำสำนักงานที่ดินทั่วประเทศห้ามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง คาดช่วงใช้มาตรการบรรเทาภาระภาษี 3 ปีแรก อบต. เทศบาล กทม. เมืองพัทยามีรายได้เพิ่ม 3-4 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ 13 มี.ค. 2562 และให้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เท่ากับว่า อีก 2 เดือนเศษ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ รวมทั้งผู้มีหน้าที่ชำระภาษีแทน อาทิ ผู้จัดการมรดกหรือทายาท ผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ผู้แทนนิติบุคคล ผู้ชำระบัญชี เจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่ง ฯลฯ ต้องยื่นเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหน้าที่จัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนอย่างกรมที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมธนารักษ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมบังคับคดี ฯลฯ ได้ทยอยประกาศบังคับใช้กฎหมายระดับรอง ตลอดจนระเบียบ คำสั่ง เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและปลูกสร้าง ใกล้เสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว

ท้องถิ่น 7.7 พันแห่งติวเข้ม

ในส่วน อปท. 7,776 แห่ง จาก 7,852 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา ยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตลอดเวลากว่า 1 ปี ตั้งแต่ช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ อยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดฝึกอบรมติวเข้มเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ฝ่ายปฏิบัติในส่วนการสำรวจ จัดทำแผนที่ภาษี ประเมินภาษี ศึกษาบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและอาคารชุด โดยเชื่อมโยงข้อมูลที่ดินทั่วประเทศ 32 ล้านแปลง หรือ 32 ล้านโฉนดกับสารบบที่ดินของกรมที่ดิน และเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และอาคารชุด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมธนารักษ์

ค้างภาษีขึ้นบัญชีดำห้ามโอน

ล่าสุด กรมที่ดินทำหนังสือถึงสำนักงานที่ดิน และสำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศ ให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายใหม่ที่ให้จัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ดังนี้

1. จัดส่งข้อมูลรูปแปลงที่ดิน และข้อมูลเอกสารสิทธิที่ดิน ประกอบด้วยข้อมูลทะเบียนที่ดิน และข้อมูลห้องชุดในแต่ละพื้นที่ให้กับ อปท. เพื่อใช้เตรียมการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

2. ให้สำนักงานที่ดิน และสำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศ มีหน้าที่แจ้งการโอน หรือจดทะเบียนการเช่า กรณีที่โอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือจดทะเบียนการเช่าในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อ อปท.เป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

3. ให้สำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขา มีหน้าที่รับแจ้งรายการภาษีค้างชำระจาก อปท. เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง ภายในเดือน มิ.ย.ของทุกปี หรือภายในระยะเวลาที่ อปท. และสำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขา จะตกลงกำหนดเวลาเป็นอย่างอื่น กรณีมีภาษีค้างชำระ กฎหมายห้ามสำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขารับจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง

เข้มผู้ถือกรรมสิทธิ์-ครอบครอง

ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้วันที่ 17 ก.ย. 2562 สาระสำคัญ คือ ให้สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา แจ้งการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือการจดทะเบียนเช่าในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อ อปท.ที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่เป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

เท่ากับว่า อปท. จะมีข้อมูลและรู้ความเคลื่อนไหวการเปลี่ยนมือผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นปัจจุบัน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดเก็บภาษี

แจงยิบใครอยู่ในข่ายต้องจ่าย

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รวบรวมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยอธิบายว่า ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูก สร้างประกอบด้วย

1.ที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เช่น โฉนด ตราจอง ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์ น.ส.3 น.ส.3 ก และ น.ส.3 ข และที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เช่น ส.ป.ก.4 ก.ส.น. ส.ค.1 น.ค.1น.ค.3 ส.ท.ก.1 ก น.ส.2 (ใบจอง) เป็นต้น

2.สิ่งปลูกสร้าง หมายถึง โรงเรือน ตึก อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้ทรัพย์สินได้ อาทิ บ้านเดี่ยว บ้านเรือนแพ บ้านแถวหรือทาวน์เฮาส์ ห้องแถว ตึกแถว คลังสินค้า สถานศึกษา โรงแรม โรงมหรสพ สถานพยาบาล สำนักงาน ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชยกรรม สถานีบริการน้ำมัน โรงงาน ถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงบนดิน ไซโลเก็บอาหาร โรงสีข้าว คอนโดมิเนียม กระท่อม ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้เป็นสำนักงาน-ที่อยู่อาศัย สระว่ายน้ำ บ้านผีสิงในสวนสนุก บ้านบนต้นไม้ เต็นท์โครงหลังคาเหล็กถาวร เป็นต้น

ตัวอย่าง สิ่งปลูกสร้างที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี อาทิ ตู้ฝาก-ถอนเงินสด กังหันลมลานไกไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์สาธารณะ เครื่องเล่นในสวนสนุก เสาสัญญาณอินเทอร์เน็ต ถนน บ่อบำบัดน้ำเสีย รั้ว ลาน ทางเดินรถไฟ เสาไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

รายได้เข้าท้องถิ่น 4 หมื่น ล.

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2563 โดย 2 ปีแรกเป็นไปตามบทเฉพาะกาล อย่างไรก็ดี การบรรเทาภาระภาษีสำหรับผู้ที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นจากที่เคยเสียอยู่เดิม จะบรรเทาให้เป็นเวลา 3 ปี

“ตอนนี้มีรายละเอียดหมดแล้ว ทุกคนประเมินภาระภาษีตัวเองได้ตามบทเฉพาะกาล จะกำหนดอัตราจัดเก็บช่วงแรก2 ปี จากนั้นค่อยดูว่าจะอย่างไรต่อไป ส่วนการบรรเทาภาระภาษีจะอยู่ช่วง 3 ปีแรกซึ่งการบรรเทาจะคิดเฉพาะส่วนที่ถูกเก็บภาษีมากขึ้นกว่าที่เคยเสียอยู่ส่วนที่เคยเสียอยู่ก็จะเสียเหมือนเดิม สมมุติเคยเสียภาษีอยู่ 300 บาท ต้องเสียเพิ่มเป็น 500 บาทในส่วน 300 บาทก็ต้องเสียไปก่อน ส่วนอีก200 บาท ค่อยมาบรรเทา ปีแรก 25% ของ200 บาท ปีที่สอง 50% ปีที่สาม 75% คิดรวมกับ 300 บาทเดิม ดังนั้นภาพรวมภาษีไม่ได้น้อยลง” นายลวรณกล่าว

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีแรก การเก็บรายได้ภาษีที่ดินของ อปท. ทั่วประเทศจะอยู่ที 3-4 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่เก็บได้ปีละ 2.9 หมื่นล้านบาท โดยรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้น มาจากที่ดินเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ส่วนที่รกร้างว่างเปล่าจะเริ่มต้นเก็บอัตราเท่ากับที่ดินเชิงพาณิชย์ จากนั้นจึงทยอยปรับเพิ่มขึ้น หากยังไม่มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน

สนามกอล์ฟลดหย่อน 90%

กรณีสนามกอล์ฟจะได้รับลดหย่อนภาษีให้ 90% เฉพาะในส่วนที่เป็นสนามกอล์ฟ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนกีฬา แต่ส่วนคลับเฮาส์จะไม่ได้รับยกเว้นภาษี แต่จะมีการจัดเก็บภาษี ซึ่งการลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์นี้ ไม่ใช่เฉพาะกรณีสนามกอล์ฟ แต่รวมถึงกีฬาประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น สนามฟุตบอล เป็นต้น

“จะลดหย่อนให้เฉพาะส่วนที่เป็นสนาม โดยจะได้ลดหย่อน 90% คือ 100 บาท เสียแค่ 10 บาท ซึ่งรวมถึงที่ดินที่ใช้ในทางกีฬาอื่น ๆ ด้วย” นายลวรณกล่าว

แจงเหตุผลเลื่อนราคาประเมิน

นายลวรณกล่าวด้วยว่า กรณีที่กรมธนารักษ์เลื่อนการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมจะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นใช้วันที่ 1 ม.ค. 2564 นั้น เนื่องจากหากไม่เลื่อนใช้ราคาประเมินใหม่ จะสร้างความยุ่งยากให้ท้องถิ่นที่ต้องนำราคาประเมินใหม่มาใช้ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันต่อการเก็บภาษีที่ต้องเสร็จภายในสิ้นเดือน เม.ย. 2563

“วันนี้ท้องถิ่นเขาต้องทำการบ้านว่า ที่ดินแต่ละแปลง หรือโรงงานแต่ละแห่ง ต้องประเมินแล้วเสียภาษีเท่าไหร่ ซึ่งใช้ราคาที่ดินปัจจุบันมาทำจนเสร็จแล้ว แต่ถ้าพอวันที่ 1 ม.ค. 2563 จะไปเปลี่ยนราคาใหม่ สิ่งที่ทำมาก็จะผิดหมด ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกันก็ต้องชะลอไป 1 ปี เพราะถ้าไปประกาศราคาใหม่ ก็ต้องทำการบ้านกันใหม่ ก็จะไม่ทันเก็บภาษีภายในเดือน เม.ย.” นายลวรณกล่าว

3 ปีแรกที่ร้างเก็บเท่าเชิงพาณิชย์

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่าอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บช่วงปี 2563-2564 หากเป็น

1. ที่ดินเกษตรกรรม มูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.01%, 75-100 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03%, 100-500 ล้านบาท เสียอัตรา 0.05%, 500-1,000 ล้านบาท เสียอัตรา 0.07% และ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตรา 0.1% ซึ่งในกรณีบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นภาษีในช่วง 3 ปีแรก จากนั้นปีที่ 4 เป็นต้นไป จะได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละ อปท. รวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นการถาวร

2. ที่อยู่อาศัย กรณีเป็นบ้านรวมที่ดิน หากเป็นหลังหลัก (มีชื่อในทะเบียนบ้าน) มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษี, 50-75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03%, 75-100 ล้านบาท เสีย 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไป เสีย 0.1%

กรณีสิ่งปลูกสร้าง หากใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลังหลัก มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี, 10-50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.02%, 50-75 ล้านบาท เสีย 0.03%, 75-100 ล้านบาท เสีย0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้น เสีย 0.1% บ้านที่ไม่ใช่หลังหลัก ไม่เกิน 50 ล้านบาทเสีย 0.02%, 50-75 ล้านบาท เสีย 0.03%,75-100 ล้านบาท เสีย 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไป เสีย 0.1%

3. อื่น ๆ (พาณิชยกรรม/รกร้างว่างเปล่า) มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.3%, 50-200 ล้านบาท เสีย 0.4%, 200-1,000 ล้านบาท เสีย 0.5%, 1,000-5,000 ล้านบาท เสีย 0.6% และ 5,000 ล้านบาทขึ้น เสีย 0.7% กรณีที่ว่างเปล่า หากไม่มีการทำประโยชน์ ภาษีจะเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี สูงสุดไม่เกิน 3%


อ่านเพิ่มเติม