ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้วิกฤตภัยแล้งปี’63 ส่อสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.9 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.2563) ได้เกิดขึ้นเร็วกว่าปีก่อน และส่อเค้าความรุนแรง ยาวนานมากขึ้น จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงร้อยละ 33.1 (YoY) ซึ่งเป็นการลดลงในแทบทุกภาคของประเทศ และยังเป็นระดับน้ำที่วิกฤติกว่าปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรงอีกด้วย สร้างความเสียหายต่อพืชฤดูแล้งสำคัญ คือ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ด้วยแรงฉุดด้านผลผลิตที่ลดลง จะเป็นปัจจัยฉุดรายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ให้หดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 0.5-1.0 (YoY)

สำหรับผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงภัยแล้งในฤดูกาลอาจอยู่ที่ราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.10-0.11 ของ GDP ทั้งนี้ ต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 ที่น่าจะแล้งจัดและเป็นช่วงที่มีผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และระยะเวลาภัยแล้งที่อาจลากยาวต่อเนื่องถึงช่วงกลางปีนี้ได้

อย่างไรก็ดี ในการประเมินครั้งนี้จะเป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเศรษฐกิจอื่น และระดับความรุนแรงของภัยแล้งที่มากขึ้น ก็อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม คงต้องฝากความหวังไว้กับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็อาจช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้อยู่ในวงจำกัดได้

ทั้งนี้ ต้องติดตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งในฤดูกาลอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 ที่น่าจะแล้งจัดและเป็นช่วงที่มีผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดจำนวนมากจนอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวที่เสียหาย รวมถึงอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และระยะเวลาภัยแล้งที่อาจลากยาวต่อเนื่องถึงช่วงกลางปีนี้ได้ จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งคงต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้งต่อไป ถ้าหากลากยาวไปจนถึงเดือนพ.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงภัยแล้งนอกฤดูกาล ก็อาจกระทบต่อฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีและสร้างความความสูญเสียทางเศรษฐกิจของภาพรวมทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤติมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น คงต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขความเสียหายตามความเหมาะสมต่อไป รวมถึงต้องติดตามสภาพอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากความรุนแรงของภัยแล้งมีระดับไม่เท่ากันในแต่ละเดือน