กรมบัญชีกลางเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยจากเหตุกราดยิงโคราช ตามสิทธิ พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยฯ

กรมบัญชีกลาง เร่งช่วยเหลือผู้ที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจนเสียชีวิต-ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา เพื่อจ่ายเงินเยียวยาตามพ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า จากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงที่ จ. นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มีประชาชนที่เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการฯ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทายาทของผู้มีสิทธิดังกล่าว ติดต่อที่ว่าการอำเภอเมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ เพื่อยื่นแบบคำขอรับความช่วยเหลือ โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือ ดังนี้

1. กรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิเหมือนข้าราชการ

2. กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการทุพพลภาพ ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิเหมือนข้าราชการ และได้รับเงินชดเชย ซึ่งคำนวณเป็นอัตราส่วนตามกฎกระทรวงเพิ่มเติมจากการได้รับบาดเจ็บ

3. กรณีทุพพลภาพขนาดหนัก ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิเหมือนข้าราชการ เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพขนาดหนัก จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำนวน 450,000 บาท และได้เงินดำรงชีพเดือนละ 7,500 บาท ตลอดชีวิต

4. กรณีถึงแก่ความตาย ทายาทจะได้รับเงินชดเชย จำนวน 450,000 บาท และค่าจัดการศพ จำนวน 45,000 บาท ทั้งนี้ เงินค่าจัดการศพ สามารถขออนุมัติในระดับจังหวัด โดยไม่ต้องส่งเรื่องมาที่ส่วนกลาง

5. กรณีที่เข้ารับการรักษา ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิเหมือนข้าราชการ และหากแพทย์มีคำสั่งให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยในระหว่างที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในอัตรา 500 บาท ต่อวัน (คำนวณจ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว)

“ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้สั่งการให้สำนักงานคลังเขตและสำนักงานคลังจังหวัด เร่งประสานกับสถานีตำรวจในพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิและเสนอผู้ว่าการจังหวัด เพื่อส่งเรื่องมาที่คณะกรรมการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งจะกำหนดวันนัดประชุมและอนุมัติเงินโดยเร็วต่อไป สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ดังกล่าว จะได้รับบำเหน็จบำนาญ และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ดังนี้ 1. บำเหน็จตกทอด (เงินเดือนคูณเวลาราชการที่รวมทวีคูณแล้ว) 2. เงินช่วยพิเศษ 3 เท่าของอัตราเงินเดือน เพื่อช่วยค่าจัดการศพ และ 3. ทายาทของเจ้าหน้าที่ที่ผู้เสียชีวิตมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญพิเศษ” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว