วิกฤตเศรษฐกิจ 2020 “สหรัฐ-ญี่ปุ่น-อียู” จีดีพีติดลบ

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เป็นเวลาถึง 3 เดือนแล้วที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสยังไม่คลี่คลาย แม้ว่าการแพร่ระบาดในจีนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และผู้ติดเชื้อใหม่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แต่ที่น่ากังวลคือ การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 700,000 คน และจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐและอิตาลีมีมากกว่าในจีน ซึ่งเป็นจุดแรกของการแพร่ระบาด

ก่อนหน้านี้ เราคิดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 น่าจะมีความใกล้เคียงกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ในปี 2003 แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนว่าเราประเมินโรคระบาดครั้งนี้ต่ำไป เพราะการที่เชื้อนี้มีระยะฟักตัวนานเกือบ 2 อาทิตย์และอาจจะไม่แสดงอาการ ทำให้อัตราการแพร่เชื้อเป็นทวีคูณได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อจึงทำได้ยาก จนประเทศต่าง ๆ ต้องใช้มาตรการการควบคุมที่แรงขึ้น เช่น การจำกัดการรวมตัว ปิดสถานบริการ และร้านค้า ลดจำนวนการเดินทาง และปิดเมือง หรือปิดชายแดน

ผลกระทบของมาตรการดังกล่าวต่อเศรษฐกิจนั้นค่อนข้างมาก กรณีของจีน ที่ประกาศปิด 14 เมืองในมณฑลหูเป่ย์ ช่วงวันที่ 23 มกราคม ถึง 10 กุมภาพันธ์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวในช่วงมกราคมและกุมภาพันธ์ โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลง 13.5% การลงทุนหดตัว 24.5% การส่งออกติดลบ 17% และยอดขายปลีกลดลง 20.5%

และแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการแล้วในเดือนมีนาคม ธุรกิจ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ การเดินทาง และการค้าขายก็ยังไม่กลับมาในระดับปกติ ทำให้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะหดตัว 6-10% ในไตรมาส 1 ปีนี้

นอกจากนี้การแพร่ระบาดที่เริ่มรุนแรงขึ้นในเดือนมีนาคมได้แพร่กระจายไปยังยุโรปและสหรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยังควบคุมไม่ได้ และหลายเมืองต้องใช้มาตรการปิดเมือง

ดังนั้นเศรษฐกิจปี 2563 ก็น่าจะหดตัวอย่างมากในไตรมาส 2 หมายความว่า ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะตกต่ำและการฟื้นตัวน่าจะทำได้ช้า แบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวเพียง 0.3% (วิกฤตการเงินปี 2008-9 เศรษฐกิจโลกหดตัว 0.1%) และเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ ๆ จะหดตัว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผลกระทบจากวิกฤตโควิด จะส่งผลให้ปี 2020 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว -0.8% กลุ่มประเทศยูโรโซน เศรษฐกิจขยายตัว -1.7% ญี่ปุ่น -2.6% จีน +1.5% สิงคโปร์ -2.8% และไทย -5.3%(ตาราง)

รัฐบาลในประเทศต่างๆได้ออกมาตรการการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มต่าง ๆ อาทิ การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลาง เพิ่มปริมาณเงินในระบบเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ชดเชยรายได้ให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (ถูกเลิกจ้าง หรือต้องหยุดงาน) ให้สินเชื่อพิเศษแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ การชะลอการจ่ายภาษีเงินได้ หรือลดภาษีบางประเภท และช่วยปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยกรณีของสหรัฐได้อนุมัติงบประมาณถึง 2 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 10% ของจีดีพี ส่วนประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่อยู่ที่ 3-5% ของจีดีพี

ที่น่ากังวล คือ ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากหลายประเทศมีเศรษฐกิจภายในที่อ่อนแอ และปัญหาใหญ่ คือ การสะสมหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยหนี้ครัวเรือนทั้งโลกวันนี้มีมูลค่ากว่า 47 ล้านล้านเหรียญหรือ 60% ของจีดีพี (ปี 2008 = 35 ล้านล้านเหรียญ) โดยประเทศกำลังพัฒนาก่อหนี้เพิ่มขึ้นและมีระดับหนี้ต่อจีดีพีสูงกว่าในปี 2008 ไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้ (ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเท่ากับ 80%)

ส่วนหนี้ภาคธุรกิจนั้น มีขนาดใหญ่ถึง 75 ล้านล้านเหรียญ หรือ 93% ของจีดีพี (2008 = 75% ของจีดีพี) ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องและอาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือน

สำหรับประเทศไทยนั้น วิกฤตครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อหลากหลายกลุ่มและอาจจะฟี้นตัวได้ช้า เพราะกระทบภาคท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่ามีแรงงานอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องถึง 20 ล้านคน ในขณะที่ภาคการส่งออกที่เคยมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวในวิกฤตปี 1998 ก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย

ส่วนภาคการเกษตร ที่เป็นภาคการผลิตที่รองรับแรงงานในยามวิกฤตก็เผชิญกับภาวะแล้ง ขณะที่ภาระหนี้ในระดับสูงของทั้งครัวเรือนและธุรกิจจะเป็นความเสี่ยงที่ต้องจัดการและเป็นตัวถ่วงให้การฟื้นตัวช้ากว่าปกติ

ดังนั้น ความช่วยเหลือจากภาครัฐจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบ และหวังว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้โดยเร็ว