สภาพัฒน์ ผนึก ทีมนายกฯ ขึงกลไกแบ่งเค้ก “เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ”

“เงินกู้ 4 แสนล้านบาท” ถูกมองเป็น “เค้กก้อนโต” ที่ฝ่ายการเมืองต่างก็หมายปอง เพราะสามารถนำไปใช้ดูแลฐานเสียงได้

โดยพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินก้อนนี้ไว้ว่า “เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งพิจารณาโครงการที่มีคุณภาพตามกรอบการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ออกมาได้ในช่วงไตรมาส 3 โดยเฉพาะมาตรการด้านการท่องเที่ยวที่จะต้องออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลและจับตากันอยู่ก็คือ การใช้จ่ายเงินกู้ดังกล่าวจะเป็นไปด้วยความเหมาะสม และมีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด เพราะไม่ทันไรก็ปรากฏกระแสข่าวลือสะพัดว่า จะมีการแจกเงินให้ ส.ส. ไปใช้ลงพื้นที่ รายละ 80 ล้านบาท

“ไม่เคยได้ยินว่า มีผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องการจะนำเงินกู้ส่วนนี้ไปแบ่งกัน คนละ 80 ล้านบาท คงไม่ทำ จะเห็นได้ว่าโครงการทั้งหมด ฐานข้อมูลอยู่ในระบบของสภาพัฒน์แล้ว” นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวเป็นพัลวัน

พร้อมบอกว่า โครงการที่จะใช้เงินกู้นี้ต้องอยู่ภายใต้ 4 กรอบหลัก ได้แก่ 1) การลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งมีเสนอเข้ามาแล้ว 91 โครงการ วงเงินรวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท อาทิ โครงการฟื้นฟูศักยภาพของเอสเอ็มอีของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 5 หมื่นล้านบาท โครงการเกษตรอินทรีย์ โครงการสมาร์ทฟาร์มมิ่ง และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น

2) ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งล่าสุด เสนอเข้ามาแล้ว 55 จังหวัด รวม 28,331 โครงการ วงเงินรวมกว่า 3.7 แสนล้านบาท อาทิ โครงการนักบริบาลท้องถิ่น ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน, เกษตรทฤษฎีใหม่, การแปรรูปอาหาร เป็นต้น

3) ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ซึ่งส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกระทรวงการคลัง และ 4) การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต ล่าสุดมี 3 โครงการที่เสนอเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล

“หลังจากที่เปิดให้หน่วยงาน/ส่วนราชการเสนอโครงการ ล่าสุดจนถึง 5 มิ.ย. 2563 มีเสนอเข้ามาแล้ว 28,425 โครงการ วงเงินรวม 5.9 แสนล้านบาท โดยตอนนี้เสนอมาเกิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการก็ต้องเลือกโครงการที่ใช่จริง ๆ” นายทศพรกล่าว

ส่วนขั้นตอนพิจารณากลั่นกรองโครงการนั้น รอบแรกช่วง 5-15 มิ.ย.นี้ โดยจะมีการตรวจสอบรายละเอียดโครงการเบื้องต้น พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ ผ่านเว็บไซต์ “ThaiMe” ได้ด้วย จากนั้นก็จะเข้าสู่ชั้นอนุกรรมการและคณะกรรมการกลั่นกรอง ช่วงวันที่ 16-30 มิ.ย. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 ก.ค. ซึ่งจะมีบางโครงการที่ต้องส่งข้อมูลเพิ่ม ก็จะต้องส่งมาภายใน 9 ก.ค. เพื่อรวมกับโครงการเสนอเพิ่มเติม จากนั้นจะเสนอ ครม.พิจารณารอบ 2 ในช่วงต้นเดือน ส.ค.

“กลไกเหมือนฝ่ายราชการคิดอนุมัติกันเอง แต่ในชั้นอนุกรรมการกลั่นกรองจะมีผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ ซึ่งจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ครูบาอาจารย์ที่สอนทางด้านนโยบายสาธารณะ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ มาช่วยกลั่นกรองโครงการ และบางเรื่องเรายังมีคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายและแผนงานเข้ามาดูแลด้วย”

รวมถึงสภาพัฒน์ยังจะมีการเชิญสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ร่วมตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาทด้วย

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ตาม พ.ร.ก.กำหนดให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ไม่เกิน 5 ราย แต่ที่ผ่านยังตั้งไปเพียง 1 รายเท่านั้น ดังนั้นจะมีการเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งกรรมการที่เหลือ ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อมาช่วยกลั่นกรองการใช้เงินกู้ให้โปร่งใสและเหมาะสม

โดย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการในคณะที่ปรึกษา ศบค. กล่าวผ่านสื่อมวลชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า วัตถุประสงค์การใช้เงินกู้ที่ระบุไว้ในกฎหมายมีความครอบคลุมค่อนข้างกว้าง ซึ่งที่ปรึกษา ศบค.จะต้องเข้าไปช่วยพิจารณากลั่นกรองการใช้เงินกู้ดังกล่าวด้วย

“เงิน 4 แสนล้านบาท ถ้าใช้ให้ดี ก็มีโอกาส เป็นอาวุธสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งก็ต้องดูว่าอย่าไปใช้ทำอะไรสะเปะสะปะ แล้วก็อย่าให้มีการโกง” นายประสารกล่าว

สุดท้ายแล้ว สังคมคงต้องร่วมมือกันตรวจสอบการใช้เงินกู้ดังกล่าวด้วย เพื่อให้การนำเงินไปใช้ตรงกับวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างตรงจุดมากที่สุด