แห่ออก “เงินฝากดิจิทัล” แบงก์เปิดเกมชิงลูกค้ายุคโควิด

“บัญชีเงินฝากดิจิทัล” ฮอตมากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รับยุคชีวิตวิถีใหม่ (new normal) หลายแบงก์หันมาแข่งขันในตลาดนี้มากขึ้น ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนการเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ (e-Saving) จึงทำได้ง่าย และสะดวกยิ่งขึ้น

เมื่อการเปิดบัญชีทำได้สะดวกรวดเร็วผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำเป็นต้องไปสาขาเหมือนในอดีต ทำให้การเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 5.4 ล้านบัญชีแล้วในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ช่วงที่ผ่านมา จึงได้เห็นภาพที่หลายธนาคารออกผลิตภัณฑ์เงินฝากดิจิทัล หรือบางแห่งก็เพิ่มฟีเจอร์เงินฝากแนวใหม่ในโมบายแอปพลิเคชั่นของตัวเอง เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากจะออมเงิน โดยเสนออัตราดอกเบี้ยสูงจูงใจกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเฉลี่ย 0.125-0.25% ต่อปี

ผู้ที่บุกตลาดนี้เป็นรายแรก ก็คือ “ME by TMB” ของธนาคารทหารไทย โดยมีการชูจุดเด่นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เสนอสูงกว่าออมทรัพย์ปกติถึง 4.5 เท่า ผ่านบัญชี ME SAVE ไม่มีขั้นต่ำ และไม่กำหนดยอดเงินฝาก และสามารถฝาก-ถอนได้ตลอดเวลา ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ให้ในปัจจุบันอยู่ที่ 1.3% ต่อปี

ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานนี้ ได้แก่ “Kept by Krungsri” ของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจะมี 3 บัญชีหลัก ทำงานร่วมกัน เป็น 1 กระเป๋า 2 กระปุก โดยจุดเด่นอยู่ที่เปิดรับฝากเงินตั้งแต่ 5,000 บาทสูงสุด 5 ล้านบาท ให้ดอกเบี้ยปีแรก 1.6% ต่อปี และปีที่ 2 สูงสุด 1.8% ต่อปี เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ย 2 ปีที่ 1.7% ต่อปี มีความยืดหยุ่นเหมือนฝากออมทรัพย์ จะถอนเท่าไหร่ เมื่อใดก็ได้

ตามมาด้วย “TMRW by UOB” ของ ธนาคารยูโอบี ซึ่งชูจุดเด่นที่เปิดบัญชีครั้งเดียวได้ถึง 2 บัญชี ทั้งบัญชีใช้จ่ายที่ให้ดอกเบี้ย 0.10% ต่อปี และบัญชีออมเงินที่มาในรูปแบบของเกม City of TMRW ให้ดอกเบี้ยถึง 1.6% ต่อปี โดยไม่กำหนดยอดเงินขั้นต่ำ สามารถถอนเงิน โอนเงิน จ่ายบิล ไม่มีค่าธรรมเนียม และหากใช้ร่วมกับบัตรเดบิต บัตรเครดิต ยิ่งได้รับประโยชน์ขึ้น เนื่องจากจะมีเครดิตเงินคืน (cash back) สูงสุดถึง 3%

ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย ส่ง “MAKE by Kbank” โมบายแบงกิ้งที่มาพร้อม 3 ฟีเจอร์หลัก คือ 1) pop pay บริการโอนเงินผ่านบลูทูท 2) chat banking บันทึกประวัติการทำธุรกรรมในรูปแบบโซเชียลแชต และ 3) cloud pocket ช่องทางจัดเก็บเงินตามความต้องการ

ตารางดอกเบี้ยเงินฝากดิจิทัล

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดมีความพร้อมในการให้บริการ e-Saving มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าเปิดรับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด-19 รวมถึงความพร้อมของระบบและขั้นตอนการสมัครที่ง่าย และมีจุดยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้แนวโน้มประชาชนหันมาเปิดบัญชี e-Saving กันมากขึ้น

โดยปัจจุบัน กสิกรไทย มีลูกค้าเปิดบัญชี e-Saving ผ่านแอปพลิเคชั่น “K PLUS” มากขึ้น ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2563 มีจำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ “K-eSavings” ประมาณ 5.7 แสนบัญชี โดยเป็นบัญชีที่สมัครพร้อม K PLUS สูงถึง 2.67 แสนบัญชี คิดเป็น 47% และมีสัดส่วนลูกค้าใหม่ของธนาคารอยู่ที่ 65% จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าบัญชีเงินฝาก 16 ล้านราย

“เราพัฒนา MAKE by KBank ขึ้นมา เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่กับลูกค้า เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนที่เน้นทำธุรกรรมร่วมกันหลายคน ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองกับพนักงานธนาคาร และบริษัท KBTG โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ ตั้งเป้าหมายลูกค้าเปิดบัญชี 1 แสนรายในปีแรก” นายวีรวัฒน์กล่าว

นายนที ศรีรัศมี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Retail Digital ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ TMRW ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 1.6% ถือว่าแข่งขันได้ในตลาด ประกอบกับธนาคารต้องการให้ TMRW สร้างความพึงพอใจและช่วยลูกค้าบริหารจัดการเงิน ทั้งในเรื่องการออม และการบริหารค่าใช้จ่ายพร้อมกัน ผ่านบริการบัญชีเงินฝากและบัตรเครดิตของ TMRW ดังนั้น จึงเห็นความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อมอบดีลพิเศษ ล่าสุด มีโปรโมชั่น 15 on 15 เครดิตเงินคืน และส่วนลดพิเศษกับ 15 ร้านค้าที่ร่วมรายการ หรือ WOW 1 Baht ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อเครื่องดื่มและอาหารกับร้านค้าชื่อดังในราคาเพียง 1 บาท

“การเกิดขึ้นของธนาคารดิจิทัลใหม่ ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการด้าน digital banking ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย TMRW เปิดตัวในประเทศไทยเป็นตลาดแรกในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเจาะกลุ่มดิจิทัลเจเนอเรชั่น สนองความต้องการเฉพาะบุคคล สอดคล้องกับไทยที่มีผู้ใช้งานบริการธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลก ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว พบว่าอัตราความพึงพอใจของลูกค้าเพิ่มเป็น 4 เท่า และมากกว่า 2 ใน 3 ของลูกค้าใหม่ได้มาจากการแนะนำ” นายนทีกล่าว

ด้าน นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เล่าว่า การเปิดตัวแอปพลิเคชั่นออมเงินที่มีวัตถุประสงค์ หรือเรียกว่า Goal Savingเป็นทิศทางที่ทุกธนาคารต้องเดินไป ทำให้เห็นธนาคารทยอยออกมาทำกันมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มากกว่าการขยายเงินฝาก เช่น ช่วยขยายฐานลูกค้า Gen Y และต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น digital wealth หรือร่วมมือพันธมิตรสร้าง ecosystem

“ธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ โดยออกแบบให้อยู่บนแอปพลิเคชั่นBualuang mBanking คาดว่าน่าจะได้เห็นภายในครึ่งปีแรกปี 2564” นางปรัศนีกล่าว

ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทุกแบงก์ก็คงต้องหันมาแย่งลูกค้าผ่านช่องทาง “บัญชีเงินฝากดิจิทัล” กันมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ที่เรียกกันว่า “new normal” นั่นเอง