ปรับแผนหนี้สาธารณะปี 63 แตะ 51.64 % ต่อจีดีพี

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้มีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

อนุมัติและรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะตามมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 โดยมีการปรับแผนที่สำคัญ ดังนี้

1.ปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 214,093.92 ล้านบาท

2.นํารายการหนี้ของบริษัท การบินไทยจํากัด (มหาชน) (บกท.) ออกจากแผนฯ เนื่องจาก บกท. ได้พ้นสถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้หนี้เงินกู้ของ บกท. ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย

3. การปรับกรอบและวงเงินของการบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุน FIDF)

ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธาณะข้างต้นส่งผลให้วงเงินตามแผนเดิมมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

1.แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 158,521.85 ล้านบาท จากเดิม 1,497,498.55 ล้านบาท เป็น 1,656,020.40 ล้านบาท

2. แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับลด 67,267.64 ล้านบาท จากเดิม 1,035,777.74 ล้านบาท เป็น 968,510.10 ล้านบาท และ

3.แผนการชําระหนี้ ปรับลด 22,329.31 ล้านบาท จากเดิม 389,373.21 ล้านบาท เป็น 367,043.90 ล้านบาท

อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) ในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 214,093.92 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 โดยการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินตาม พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และสอดคล้องกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่จําเป็นเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสําหรับการเบิกจ่ายเพื่อการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการกู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงาน

การปรับปรุงแผนฯ ข้างต้นส่งผลให้ประมาณการยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 8.21 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ระดับร้อยละ 51.64 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 60 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด