ลุ้น “อาคม” อุ้ม SMEs ชายขอบ กองทุน 5 หมื่นล้านส่อพับ

อาคม-รมว.คลัง

“เอสเอ็มอีชายขอบ” เคว้ง ! กองทุน 5 หมื่นล้านบาทไร้แหล่งเงินสนับสนุน หลังชวดทั้ง “เงินกู้-งบฯกลาง” วงในชี้ต้องชง “อาคม” ตัดสินใจอีกครั้ง แก้ปมยังตีโจทย์ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่จะให้ความช่วยเหลือไม่ตรงกัน ฟากสำนักงบฯ ชี้ สสว.ไม่ควรปล่อยกู้

แหล่งข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) และไมโครเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือผู้ประกอบการชายขอบที่จะดำเนินการในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนวงเงิน 50,000 ล้านบาทนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีแหล่งเงินสนับสนุน

ก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอขอใช้เงินกู้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563

แต่ก็ปรากฏว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ทาง สสว. ไม่สามารถใช้เงินกู้ดังกล่าวได้ เนื่องจากกฎหมายจัดตั้ง สสว. กำหนดให้ใช้แต่เงินจากงบประมาณประจำปีเท่านั้น ส่วนงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2563 ล่าสุด ก็มีการอนุมัติให้แก่โครงการอื่นไปจนเต็มวงเงินแล้ว

“พอขอใช้เงินกู้ไม่ได้ ตอนแรกก็คิดว่าจะได้เงินจากงบฯกลาง ที่ตอนแรกมีเงินเหลือกว่า 60,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้รับการจัดสรร เพราะรัฐบาลได้จัดสรรงบฯกลางไปให้โครงการอื่น ๆ จนหมดแล้ว ส่วนกองทุนที่จะเข้ามาช่วยเอสเอ็มอี คงต้องรอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังคนใหม่เข้ามาพิจารณาตัดสินใจต่อไป ว่าจะให้ใช้แหล่งเงินใด ส่วนงบฯที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) อนุมัติไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นคนละโครงการกัน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอีในโครงการนี้ ตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายไว้ทั้งสิ้น 55,000 ราย เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการผลิตและการบริการ กระจายครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน รวมทั้งภาคท่องเที่ยวและบริการ

โดยวิธีการช่วยเหลือ คือ จะเปิดให้สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนสำหรับนำไปก่อตั้ง ปรับปรุง ตลอดจนพัฒนากิจการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งจะมีทั้งความช่วยเหลือในรูปการร่วมกิจการ การร่วมทุน การลงทุนเกี่ยวกับการก่อตั้ง การขยายกิจการ การวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นต้น

“ตอนนี้โจทย์สำคัญ คือ ต้องช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการที่อำนาจซื้อลดลง เพราะเรามีการปิดประเทศเพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งปัจจุบัน แต่ละหน่วยงานยังเห็นไม่ค่อยตรงกัน ในเรื่องกลุ่มที่จะได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น คงต้องรอให้ รมว.คลังเข้ามาพิจารณาต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าบอร์ด สสว. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ได้เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปีงบประมาณ 2564 ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นวงเงินทั้งสิ้น 1,113.0944 ล้านบาท

สำหรับดำเนินการ 7 กิจกรรมตามแผนการดำเนินงานของ สสว.ได้แก่ 1.ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ 2.พัฒนาวิสาหกิจรายย่อยให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ (micro) 3.พัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ (small) 4.สนับสนุนให้บริการคำปรึกษา องค์ความรู้และข้อมูลสำหรับการประกอบธุรกิจของ MSME 5.จัดทำแผน พัฒนาฐานข้อมูลและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอี 6.ยกระดับการพัฒนาระบบข้อมูลเอสเอ็มอี และ 7.พัฒนาระบบการส่งเสริมเอสเอ็มอี

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ผ่านมางบฯกลางของปีงบประมาณ 2563 ได้จัดสรรไปหมดแล้ว โดยหาก สสว.จะมีการขอใช้งบฯกลางของปีงบประมาณ 2564 คงต้องพิจารณาในรายละเอียดการนำเงินไปใช้ก่อนว่าจะนำเงินดังกล่าวไปใช้ช่วยเหลือใคร เป็นเงินเท่าไหร่

“เท่าที่ทราบ สสว.เองก็มีเงินกองทุนเอสเอ็มอีเหลืออยู่ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงภารกิจของ สสว.ด้วยว่าควรจะเป็นหน่วยงานในด้านการสร้างองค์ความรู้มากกว่าการให้กู้แก่เอสเอ็มอี เพราะกลไกการปล่อยกู้มีธนาคารต่าง ๆ ดำเนินการอยู่แล้ว”