ทีเอ็มบี ชี้ แบงก์เร่งตั้งสำรองรับมือลูกหนี้เข้าโครงการแช่แข็งหมดฤทธิ์

ธนาคารทีเอ็มบี เผยเห็นระบบธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองสูงต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/64 รับโอกาสเอ็นพีแอลทยอยเพิ่มขึ้นตามหลังมาตรการอุ้มลูกหนี้หมดฤทธิ์ ชี้ กลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยวกว่า 50% ยังลำบากแม้มีมาตรการ ย้ำเห็นการตัดขายหนี้ชะลอหวั่นซัพพลายล้นตลาดกดราคาสินทรัพย์

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้จนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 จะเห็นการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของระบบธนาคารพาณิชย์สูงต่อเนื่อง เพื่อรองรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีโอกาสทยอยเพิ่มขึ้นภายหลังจากมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้หมดลงเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา แม้ว่ากลุ่มลูกหนี้รายย่อย เช่น สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะออกจากโครงการได้ แต่ยังมีความเปราะบางอยู่

ปิติ ตัณฑเกษม
ปิติ ตัณฑเกษม

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังมีความเปราะบางค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องดูแลลูกค้าต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งหากดูจากการแทร็กตัวเลขของ TMB Analytics พบว่าภาพรวมธุรกิจโรงแรมของประเทศ หากเป็นกลุ่มที่มีหนี้น้อยต้องการอัตราเข้าพักประมาณ 10% ก็พอไปได้ และมีอีก 40% ที่เป็นกลถ่มสีเหลืองต้องการความช่วยเหลือจากธนาคาร และมีอีก 50% ต่อให้มีมาตรการช่วยเหลือก็ลำบาก

ขณะเดียวกัน ลูกหนี้ที่จ่ายชำระได้ตามปกติที่มีประมาณ 10% จะเห็นว่าการชำระหนี้ในสถานที่ผิดไปจากเดิม โดยไปอยู่ในจังหวัดที่เล็กลง จากเดิมที่อยู่ในจังหวัดขนาดใหญ่ สะท้อนความเป็นไปได้ที่โอกาสของลูกหนี้จะมีรายได้น้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังว่าจะลูกหนี้กลุ่มนี้จะชำระได้อีกนานแค่ไหน ดังนั้น ธนาคารทั้งระบบยังจำเป็นต้องตั้งสำรองอยู่ในระดับสูงเพื่อป้องกันไว้ก่อน

“ตอนนี้สถานการณ์หนี้กำลังถูกละลาย เพราะย้อนกลับหนี้เหล่านี้โดนแช่งแข็งอยู่ แม้จะออกจากโครงการได้แต่ก็ยังไม่แข็งแรง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่พึงพาท่องเที่ยวอาจจะเหนื่อยหน่อย แม้จะมีรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือพยายามดึงมานด์เข้ามาช่วยเพิ่มเติม เช่น กำลังให้คนสูงอายุไปเที่ยวในวันหยุด หรือคนละครึ่งที่ดึงกำลังซื้อ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นยาประคองอาการเท่านั้นหากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่”

สำหรับตัวเลขเอ็นพีแอลของธนาคารปัจจุบันอยู่ที่ 2.3-2.4% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยภายในสิ้นปีคาดว่าจะบริหารเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3% ขณะที่แผนการตัดขายหนี้เสียในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะไม่เห็นการตัดขายหนี่ เนื่องจากมองว่าหากมีการตัดขายหนี้ออกพร้อมกันมากๆในระบบ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย จะทำให้ราคาสินทรัพย์ถูกกดราคาลง เพราะมีซัพพลายกระจุกตัวในตลาดจำนวนมาก

ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2564 ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนเป็นระยะๆ เป็นซีรีส์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) โดยเบื้องต้นจะเน้นดูแลลูกค้าเก่า เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวการหาลูกค้าใหม่อาจจะเป็นไปได้ยาก