ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Jo Yong-Hak/File Photo

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติจะควบคุมดูแลการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างใกล้ชิด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/11) ที่ระดับ 30.32/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (25/11) ที่ระดับ 30.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยในช่วงเช้านี้ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานพุ่งสูงขึ้น 30,000 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยตัวเลขพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 778,000 ราย สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ ณ ระดับ 732,000 ราย

โดยรายงานตัวเลขดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น เกิดจากมาตรการควบคุมโรคที่รัดกุมในบางรัฐของสหรัฐ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางแห่งมีการปลดพนักงานออกมากยิ่งขึ้น ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ ที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของตตลาดแรงงาน

อีกทั้งวันนี้เฟดได้มีการรายงานการประชุมนโยบายการเงินของวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยกรรมการเฟดประเมินว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่เฟดจะเพิ่มการถือครองหลักทรัพย์ของกระทรวงการคลัง และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) อย่างน้อยเทียบเท่ากับระดับในปัจจุบัน และเฟดระบุจะใช้เครื่องมือทางการเงินประเภทอื่นเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เปิดเผยนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการควบคุมดูแลการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย และคาดหวังให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้เพื่อให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

นอกจากนี้การเมืองภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่ตลาดยังคงติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.27-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 30.32/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (26/11) ที่ระดับ 1.1930/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (25/11) ที่ระดับ 1.1922/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งคาขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในวันนี้ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้แถลงการณ์ว่า สหภาพยุโรปเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่สหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง

ขณะที่ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความคิดเห็นต่างกันในการเจรจาข้อตกลงทางการค้า โดยตลาดยังคงจับตาดูรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวที่จะมีการเจรจาในช่วงสุดสัปดาห์

นอกจากนี้ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้แถลงการณ์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนียังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลยังไม่สามารถยกเลิกการใช้มาตรการล็อกดาวน์ อีกทั้งจะขยายเวลาการใช้มาตรการคุมเข้มออกไปจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม

ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1912-40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1913/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่างินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/11) ที่ระดับ 104.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (25/11) ที่ระดับ 104.39/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์และเข้าถือครองเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ในบางประเทศยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิมขึ้น

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.20/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.23/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (26/11) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศฝรั่งเศสไตรมาส 3 (26/11) ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน (27/11) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรปเดือนพฤศจิกายน (27/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.7/+0.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.8/+2.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ