บสย. ชี้ปี’63 ยอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่ง 1.4 แสนล้านบาท

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.

บสย. เผยผลดำเนินงานปี’63 ยอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่ง 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% อุ้มผู้ประกอบการรายใหม่กว่า 1.3 แสนราย 

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ปี 2563 ตั้งแต่ ม.ค. ถึง พ.ย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่งแตะ 140,000  ล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ 130,000 ราย สร้างปรากฏการณ์การช่วยผู้ประกอบการ SMEs ครั้งสำคัญในรอบ 29 ปี ด้วยผลดำเนินงานการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งด้านยอดการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวนลูกค้าใหม่ และจำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) ของ บสย. ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19

ผลดำเนินงาน 2563 เปรียบเทียบกับปี 2562 (ระหว่าง ม.ค.-ต.ค.62-63) ที่เติบโตขึ้นประกอบด้วย 1.ยอดการอนุมัติค้ำการค้ำประกันสินเชื่อ ปี 63 เพิ่มขึ้น 122% จาก 61,392 ล้านบาทเป็น 135,984 ล้านบาท 2.ช่วยผู้ประกอบการSMEs รายใหม่เข้าถึงสินเชื่อ เพิ่มขึ้น 167% จาก47,626 รายเป็น 127,054 ราย และ 3.จำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) เพิ่มขึ้น 174% จาก      61,979 LG เป็น 169,959 LG

โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผลงานโดดเด่น ที่ช่วยแก้วิกฤตผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ธนาคารเดินหน้าปล่อยสินเชื่อ ได้แก่

1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ปกติ  วงเงิน 100,000 ล้านบาท  ประกอบด้วยโครงการย่อยได้แก่ พลิกฟื้นท่องเที่ยว ดีแน่นอน บัญชีเดียว ชีวิตใหม่ บรรลุเป้าหมาย 99% วงเงิน 99,000 ล้านบาท

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อPGS8 บสย. SMEs สร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท มาตรการของรัฐบาลที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 2563 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ค้ำประกันเต็มวงเงิน 100%

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro entrepreneur ระยะ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท            ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ฐานรากและอาชีพอิสระ ค้ำประกันเต็มวงเงิน 100%

นอกจากนี้ บสย.ยังมีบทบาทสำคัญ เป็นกลไกช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเชื่อมโยงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ต่อเนื่อง ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Soft Loan+)  วงเงิน 57,000 ล้านบาท  รวมถึง ความร่วมมือกับธนาคารออมสินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 10,000 บาท

ทั้งนี้ โครงการที่โดดเด่นมากในปีนี้  คือการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs  (บสย. F. A. Center) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 1 อาคารธนาคาร SME D Bank   มีจุดเริ่มจากแนวคิดที่ต้องการยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการ SMEs มากกว่าบทบาท การค้ำประกันสินเชื่อ  “จากนายประกันสู่ที่ปรึกษาทางการเงิน” กำหนดเป้าหมายให้ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs เป็น F. A. ภาครัฐ ช่วยเหลือ SMEs ไทย เป็นเพื่อน SMEs ทั้งให้คำปรึกษาทางการเงิน  การเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เป็นเพื่อนแท้ยามวิกฤต ผลตอบรับหลังการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F. A. Center) โดยมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ขอคำปรึกษาจาก บสย. มากกว่า 6,000 เคส ที่ปิดเคสได้แล้ว 2,000 เคส หรือราว 34%