คลังดีเดย์เก็บภาษี “อี-เซอร์วิส” อุดรูรั่วยักษ์เทคดูด 6 หมื่นล้าน/ปี

คนใช้มือถือ
(Photo by Nicolas ASFOURI / AFP)

“อาคม” ประกาศปี’64 เริ่มลุยเก็บภาษีผู้ให้บริการออนไลน์จากต่างประเทศ เร่งหารายได้อุดรายจ่ายภาครัฐพุ่ง สรรพากรแจงเก็บภาษี VAT 7% ผู้ให้บริการ “ดูหนัง-ฟังเพลง-ดาวน์โหลดแอป-เกม” ไล่บี้ยักษ์เทคข้ามชาติ “กูเกิล-เฟซบุ๊ก-เน็ตฟลิกซ์-ยูทูบ” อุดรูรั่วเงินไหลออกปีละ 6 หมื่นล้านบาท คาดเก็บภาษีได้ปีละ 5 พันล้านบาท เชื่อไม่ผลักภาระผู้บริโภค

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 กระทรวงการคลังจะเริ่มจัดเก็บภาษีจากบริการออนไลน์ (e-Service) จากผู้ให้บริการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย โดยปัจจุบันร่างกฎหมายอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ทั้งนี้ เพื่อให้มีรายรับเข้ามารองรับรายจ่ายของรัฐที่มีมากขึ้น

“เมื่อเราอยู่ในสภาวะที่รายจ่ายของรัฐมีมากขึ้น ขณะที่ระบบการจัดเก็บรายได้ยังเหมือนเดิม แถมรายการลดหย่อนภาษีก็มีมากขึ้น ฉะนั้นเรื่องรายรับของรัฐบาลที่ไม่ได้พูดกันมานานแล้ว ดังนั้นในปี 2564 สิ่งที่จะเห็นอย่างน้อย ก็คือการจัดเก็บภาษีบริการออนไลน์ที่มาจากต่างประเทศจะต้องเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้หลายประเทศก็ทำกันอยู่” นายอาคมกล่าว

สรรพากรดีเดย์ปีหน้า

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนจัดเก็บภาษี e-Service จากผู้ให้บริการออนไลน์ต่างชาติจะเริ่มได้ในปีหน้าแน่นอน โดยขณะนี้รอพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่เป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการ e-Service ในประเทศไทย ผ่านกระบวนการรัฐสภาซึ่งน่าจะไม่เกินสิ้นปีนี้ และเมื่อกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีเวลาให้อีก 180 วัน ก่อนจะมีผลบังคับใช้

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายภาษี e-Service หรือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา โดยคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้สรรพากรมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้กว่า 5,000 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก

บี้ยักษ์เทคฯเฟซบุ๊ก-เน็ตฟลิกซ์

โฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะต้องการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศที่ต้องเสียภาษี โดยขณะนี้มีประเทศที่บังคับใช้กฎหมายแล้วกว่า 60 ประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการ e-Service ในประเทศไทย อาทิ เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ยูทูบ, เน็ตฟลิกซ์ รวมถึงผู้ให้บริการดาวน์โหลดเกมออนไลน์, แอป และสติ๊กเกอร์ เป็นต้น

“สำหรับขั้นตอนพิจารณากฎหมายอยู่ในขั้นวุฒิสภาจะจบวาระ 2 วาระ 3 ในต้นสัปดาห์นี้ คาดว่าต้นปีหน้าจะประกาศบังคับใช้กฎหมาย แต่จะให้มีระยะเวลาเตรียมการด้านระบบและการประชาสัมพันธ์ 6 เดือน ซึ่งจะต้องออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการต่างประเทศ และเมื่อพ้น 6 เดือน จึงเริ่มให้ผู้ให้บริการจากต่างประเทศมาจดทะเบียน VAT ได้ และเริ่มจัดเก็บภาษีในช่วงครึ่งปีหลัง” แหล่งข่าวกล่าว

อี-เซอร์วิสต้องเสีย VAT 7%

แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดเก็บ VAT จากผู้ให้บริการ “ดิจิทัลเซอร์วิส” จากต่างประเทศ จะเก็บในอัตรา 7% ต่อปี เท่ากับคนไทยที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในปัจจุบัน โดยวิธีการเสียภาษีของผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศให้เสียภาษีจาก “ภาษีขาย” โดยไม่ให้นำภาษีซื้อมาหัก นอกจากนี้ในกรณีผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ให้บริการผ่านทางแพลตฟอร์ม และแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นผู้ส่งมอบบริการ การชำระค่าบริการ หน้าที่เสียภาษีจึงเป็นของแพลตฟอร์ม ทั้งนี้มั่นใจว่าผู้ให้บริการข้ามชาติรายใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียง พร้อมจะจ่ายภาษีนี้ และจะทำให้มีรายได้เข้ารัฐประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี

“เดิมประเมินว่าจะเก็บรายได้ส่วนนี้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตัวเลขการใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก สำหรับตัวเลขรายได้ 5,000 ล้านบาท ประเมินจากที่คนไทยต้องจ่ายค่าบริการให้กับผู้ให้บริการต่างประเทศราว 6 หมื่นล้านบาทต่อปี”

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีความกังวลกันว่า ผู้ให้บริการจะผลักภาระภาษีมาให้ผู้ซื้อ โดยขึ้นราคาค่าบริการออนไลน์นั้น เนื่องจากผู้ให้บริการออนไลน์ก็ต้องแข่งขันกัน ซึ่งไม่น่าจะทำให้เกิดการคิดค่าบริการที่แพงขึ้น

ประเทศสูญเสียโอกาส

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. …ให้เหตุผลถึงการร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น จึงเห็นสมควรให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้ให้บริการในประเทศไทย โดยผู้ใช้บริการไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจและการใช้บริการดังกล่าว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ผ่านมาการให้บริการดิจิทัลเซอร์วิสของบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขายโฆษณาออนไลน์ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ หรือการชมภาพยนตร์ออนไลน์ วิธีการชำระเงินค่าบริการของผู้ให้บริการออนไลน์ต่างชาติส่วนใหญ่จะให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการในประเทศชำระเงินไปยังต่างประเทศโดยตรง ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์ทางภาษีจากบริษัทยักษ์เทคโนโลยีต่างชาติที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย ทั้งในแง่ของภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนิติบุคคล แม้ว่าหลายบริษัทจะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสาขาในประเทศไทย แต่ก็พบว่าส่วนใหญ่รายได้ก็ยังไม่ได้เข้าที่ประเทศไทย