“เคอรี่” ดีเดย์เทรด 24 ธ.ค. ธุรกิจส่งด่วนเอกชนรายแรก บนกระดานหุ้นไทย

หลังจาก “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” (Kerry Express) ประกาศแผนเข้าระดมทุนตลาดหุ้นไทยภายในปีนี้ ก็ได้รับเสียงตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี เพราะเป็นธุรกิจ “ส่งด่วนเอกชน” รายแรกในประเทศไทย ที่สามารถขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งได้ในระยะเวลาไม่นาน จากจุดแข็งที่สามารถส่งพัสดุไปยังปลายทางได้ภายในข้ามวัน (next-day delivery)

โดย “วราวุธ นาถประดิษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงแผนการลงทุนในอนาคต โอกาสการเติบโต รวมถึงกลยุทธ์การปรับตัวรับมือคู่แข่งขันรายใหม่

หนทางสู่เบอร์หนึ่ง

“วราวุธ” เท้าความว่า บริษัท เริ่มให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนในไทยตั้งแต่ปี 2549 ขณะนั้นมีแค่ประมาณ 10 สาขาเท่านั้น และมีพนักงานไม่ถึง 100 คน เริ่มจากให้บริการจัดส่งพัสดุแบบธุรกิจส่งถึงธุรกิจ (B2B) เป็นหลัก ก่อนจะขยายมาสู่บริการจัดส่งพัสดุแบบธุรกิจส่งถึงบุคคล (B2C) และแบบบุคคลส่งถึงบุคคล (C2C) ในที่สุด

ปัจจุบัน “เคอรี่ฯ” มีจุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีศูนย์คัดแยกพัสดุหลัก 9 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุกว่า 12,000 แห่ง รถจัดส่งพัสดุภายใต้การบริหารของบริษัทกว่า 25,000 คัน และพนักงานกว่า 20,000 ราย

เติบโตไปพร้อมอีคอมเมิร์ซ

จากฐานการให้บริการที่ขยายใหญ่ขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากกลุ่มลูกค้า C2C และ B2C เป็นหลัก โดยงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 14,689 ล้านบาท เติบโต 0.2% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,030 ล้านบาท เติบโต 14.4% จากปีก่อน มาจากกลุ่มลูกค้า C2C 53.9%, B2C 44.3%, B2B 1.7% และรายได้จากการโฆษณา 0.1%

ช่วง 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2560-2562) บริษัทมีรายได้ 6,626 ล้านบาท 13,565 ล้านบาท และ 19,782 ล้านบาทตามลำดับ โตเฉลี่ย 72.8% กำไรสุทธิอยู่ที่ 730 ล้านบาท 1,185 ล้านบาท และ 1,329 ล้านบาทตามลำดับ โตเฉลี่ย 34.9%

ในระยะถัดไป “วราวุธ” เชื่อว่า ธุรกิจของ “เคอรี่ฯ” จะเติบโตสอดคล้องไปกับเทรนด์การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้และด้วยส่วนแบ่งยอดขายปลีกออนไลน์ในไทยที่อยู่ที่ 3.7% จากยอดขายค้าปลีกรวม ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

เช่น จีน 27.5% เกาหลี 26.7% อังกฤษ 18.3% สหรัฐ 15.2% และญี่ปุ่น 9.0% ดังนั้น จึงยังมีโอกาสที่ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศจะเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจส่งด่วนโดยแนวโน้มผลประกอบการในปีนี้ จากการระบาดของโควิด-19

ส่งผลให้ผู้คนหันมาใช้บริการสั่งของออนไลน์มากขึ้น หนุนให้ธุรกรรมของบริษัทปรับขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1.3 ล้านหลังคาเรือน/วัน ก่อนจะปรับลงมาอยู่ที่ 1.2 ล้านหลังคาเรือน/วันในปัจจุบัน ซึ่งการขยายความสามารถในการรองรับสินค้า (capacity) เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ส่งผลให้รายได้ส่วนหนึ่งต้องนำไปลงทุนขยาย capacity ตลอดเวลา

และนอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีแล้ว บริษัทตั้งใจขยายความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีเครือข่ายพันธมิตรที่อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า อาทิ ร้านสะดวกซื้อ FamilyMart ห้างสรรพสินค้า Big C, Tesco Lotus และ Tops Supermarket, รถไฟฟ้า BTS, ร้านหนังสือB2S และ OfficeMate ฯลฯ

“ปัจจุบันเราสามารถรักษาอัตราทำกำไรไว้ที่ระหว่าง 5-8% ต่อธุรกรรม ขณะที่โควิด-19 ส่งผลบวกต่อเราในแง่ที่ผู้ใช้บริการหน้าใหม่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น รวมถึงช่วงท้ายปีจะเป็นช่วงฤดูกาลการใช้จ่ายแม้ว่าปีนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคอาจจะแผ่วลง แต่เชื่อว่ารายได้ของเราจะยังเติบโตได้ดีเป็นตัวเลขสองหลัก”

ไม่หวั่นคู่แข่งตัดราคา

ส่วนการเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่อาจจะมีเรื่องการตัดราคานั้น “วราวุธ” มั่นใจว่า ไม่ว่าคู่แข่งจะใช้วิธีการตัดราคา เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ไปใช้บริการอย่างไร แต่ “เคอรี่ฯ” ยังมีต้นทุนต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นเจ้าเดียวที่การันตีการส่งถึงภายในวันถัดไป และหากคู่แข่งใช้กลยุทธ์ตัดราคาก็จะไม่เป็นผลดีต่อผลประกอบการ อีกทั้งยังยากที่จะปรับราคาขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุนในระยะถัดไปด้วย

เล็งปันผลขั้นต่ำ 30%

“วราวุธ” กล่าวถึงแผนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่บริษัทจะใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “KEX” ว่า บริษัทได้เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) แก่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันเมื่อวันที่ 8-14 ธ.ค.ที่ผ่านมา กำหนดราคาจองซื้อ 28.00 บาท/หุ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม สะท้อนจากนักลงทุนสถาบันกว่า 100 กองทุน ที่แสดงความต้องการซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขายถึง 24 เท่า

ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่สนใจลงทุนในธุรกิจของ “เคอรี่ฯ” สามารถซื้อขายบนกระดานได้ ในวันที่ 24 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิ และมีกำหนดจ่ายปันผลเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO ประมาณ 8,400 ล้านบาทนั้นประมาณ 1,000 ล้านบาทแรก เราจะนำไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อบริหารต้นทุนของบริษัท และอีกส่วนหนึ่งใช้ชำระหนี้คืนแก่ธนาคาร

“แม้ว่า ‘เคอรี่ฯ’ จะเป็นบริษัทลูกในเครือ ‘เคอรี่ โลจิสติกส์ เน็ทเวิร์ค’ จากฮ่องกง แต่บริษัทตั้งใจสร้างธุรกิจให้เป็นของคนไทย โดยก้าวที่สำคัญที่บริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการตอกย้ำว่าต้องการให้คนไทยทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของร่วมกัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ “เคอรี่ฯ” กล่าวทิ้งท้าย